ก่อนที่เราจะเริ่มทำ ข้อสอบใบขับขี่ และทดสอบขับรถจริงๆ นั้น เราจะต้องผ่านการอบรมใบขับขี่หลายด่านมากมาย เริ่มตั้งแต่ฟังคำบรรยาย ดูคลิปวิดีโอสั้นๆ รวมถึงการทดสอบร่างกายเบื้องต้น เช่น การทดสอบสายตา และการตอบสนองของเท้า เมื่อถึงวันอบรมสอบใบขับขี่จริงๆ เราจะได้ไม่ตื่นเต้น ทำผ่านได้อย่างฉลุย
วันนี้ bolttech.co.th จะมาเฉลยข้อสอบใบขับขี่ 2567 แบบเน้นๆ ตรงประเด็นกัน โดยอัปเดตมาจากข้อสอบใบขับขี่ 2566 โจทย์ไหนออกมาก ออกเยอะ พร้อมเเชร์ให้ทุกคน รับรองว่าคะแนนสอบใบขับขี่มาชัวร์ !!
ข้อสอบใบขับขี่ 2567 พร้อมเฉลย
1. สัญลักษณ์ป้ายจราจร และเครื่องหมายที่สำคัญ
ป้ายห้ามเข้า หมายความว่า ห้ามขับรถทุกชนิดเข้าไปในเขตที่ติดตั้งป้าย มีลักษณะเป็นป้ายวงกลมสีแดง มีเส้นทึบสีขาวหนึ่งเส้นขวางเป็นแนวนอน
ป้ายห้ามเลี้ยวขวา หมายถึง ห้ามเลี้ยวขวา ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตามในเขตทางที่ติดตั้งป้ายไว้
ป้ายห้ามหยุดรถ สัญลักษณ์นี้คือ ห้ามผู้ขับขี่หยุดรถหรือจอดรถทุกชนิด ตรงในบริเวณพื้นที่ติดตั้งป้ายนี้
ป้ายห้ามแซง เครื่องหมายนี้คือ ห้ามขับรถแซงขึ้นหน้ารถคันอื่น ในเขตทางที่ติดตั้งป้าย หากฝ่าฝืนกฎจะต้องเสียค่าปรับ
ป้ายห้ามกลับรถทางขวา หากสังเกตเห็นป้ายนี้หมายถึง ห้ามกลับรถไปทางขวา ไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ ในเขตทางที่ติดตั้งป้าย
ป้ายห้ามรถบรรทุกผ่าน สัญลักษณ์นี้ก็คือ ห้ามรถบรรทุกผ่านในเขตที่ติดตั้งป้าย เด็ดขาด!
ป้ายห้ามใช้เสียง หมายถึง ห้ามใช้เสียงสัญญาณ หรือทำให้เกิดเสียงที่ก่อการรบกวนไม่ว่าจะด้วยประการใดๆ ในเขตทางที่ติดตั้งป้าย
ห้ามใช้ความเร็วเกิน 50 กม./ชม. หมายถึง ห้ามผู้ขับขี่ขับรถเร็วเกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในบริเวณพื้นที่ติดตั้งป้าย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น
ป้ายห้ามจอด เตือนว่า ห้ามจอดรถทุกชนิดในบริเวณที่ติดตั้งป้าย หากฝ่าฝืนจะต้องมีโทษค่าปรับ
ป้ายทางโค้งซ้าย ควรระวังทางข้างหน้ามีโค้งไปทางซ้าย ให้ขับรถช้าลงพอสมควร และเดินรถชิดด้านซ้ายด้วยความระมัดระวัง
ป้ายทางคดเคี้ยวเริ่มขวา หมายความว่า ทางข้างหน้าเป็นทางคดเคี้ยวโดยเริ่มจากทางขวา ให้ขับรถช้าลงพอสมควร และเดินรถชิดด้านขวาด้วยความระมัดระวัง
ป้ายทางโทแยกทางเอกทางซ้าย บอกให้เตรียมตัว ทางข้างหน้ามีทางโทแยกไปทางซ้าย ควรขับรถให้ช้าลง เเละเพิ่มความระมัดระวัง
ป้ายทางเเคบลงทั้งสองด้าน เตือนให้ระวัง ทางข้างหน้าแคบลงกว่าทางที่กำลังผ่านทั้งสองด้าน ควรขับรถให้ช้าลง และเพิ่มความระมัดระวัง
ป้ายทางข้ามรถไฟ (มีเครื่องกั้น) หมายความว่า ให้ขับรถให้ช้าลงพร้อมที่จะหยุดรถเมื่อมีเครื่องกั้นทางปิดกั้น ควรสังเกตดูทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ถ้ามีรถไฟกำลังแล่นผ่าน ควรหยุดรอให้ห่างอย่างน้อย 5 เมตร หลังจากรถไฟผ่านไปอย่างปลอดภัย จึงสามารถเคลื่อนรถต่อไปได้
ป้ายทางข้ามรถไฟ (ไม่มีเครื่องกั้น) หมายความว่า ให้ขับรถให้ช้าลงและสังเกตดูรถไฟทั้งขวาและซ้าย เพราะทางรถไฟข้างหน้าไม่มีเครื่องกั้น หากมีรถไฟกำลังผ่านให้หยุดรถห่างจากรถไฟอย่างน้อย 5 เมตร
ป้ายระวังถนนลื่น กรณีที่ผู้ขับขี่เห็นเครื่องหมายในภาพนี้ ขับรถให้ช้าลง และระมัดระวังการลื่นไถล อย่าใช้ห้ามล้อโดยแรง ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ
ป้ายระวังเครื่องบิน บินต่ำ หมายความว่า ป้ายเตือนระวังเครื่องบินกำลังบินต่ำ เนื่องจากทางข้างหน้าใกล้สนามบินหรืออาจมีเครื่องบินกำลังบินลงในระดับต่ำ ให้ผู้ขับขี่ใช้ความระมัดระวัง
ป้ายระวังคนข้ามถนน ความหมาย ทางข้างหน้าเป็นทางข้ามถนน ให้ผู้ขับรถขับช้าลงและระวังคนข้ามถนน
ป้ายวงเวียน เตือนว่า ทางข้างหน้าจะเป็นทางแยก มีวงเวียน ให้ขับรถช้าลงและเดินรถด้วยความระมัดระวัง
ป้ายชิดซ้าย ให้ปฏิบัติด้วยการ ให้ชิดซ้าย ซึ่งผู้ขับขี่จะต้องขับรถผ่านไปทางด้านซ้ายของป้าย
ป้ายชิดซ้ายหรือชิดขวา หมายถึง ให้ขับรถชิดซ้ายหรือชิดขวา ของป้าย
ป้ายให้ตรงไปหรือเลี้ยวซ้าย ให้ปฏิบัติด้วยการขับรถ ตรงไปหรือเลี้ยวซ้าย ตามสัญลักษณ์ของลูกศรชี้
ป้ายขับรถไปทางซ้าย หมายความว่า ให้ขับรถไปทางด้านซ้ายได้อย่างเดียว ตามสัญลักษณ์ของลูกศรชี้
ป้ายช่องเดินรถประจำทาง หากพบป้ายนี้แสดงว่า ช่องเดินรถที่ติดตั้งป้ายเป็นบริเวณที่กำหนดให้เป็น ช่องเดินรถประจำทาง ห้ามแซงล้ำเข้าไปในช่องเดินรถประจำทาง
ป้ายช่องเดินรถมวลชน คือ ช่องเดินรถที่ติดตั้งป้ายเป็นบริเวณที่กำหนดให้เป็น ช่องเดินรถมวลชน และรถมีคนนั่งไม่น้อยกว่า 3 คน จึงสามารถใช้ช่องเดินรถนี้ได้
เขตปลอดภัย หรือเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่าเกาะสี หมายถึง พื้นที่ในทางเดินรถที่มีเครื่องหมายแสดงให้เห็นได้ชัดเจนทุกเวลา สำหรับให้คนเดินเท้าที่ข้ามทางหยุดรอ หรือให้คนที่ขึ้นหรือลงรถหยุดรอก่อนจะข้ามทางต่อไป จะมีลักษณะเป็นแถบเส้นทึบสีขาว หรือสีเหลือง ถ้าเห็นสัญลักษณ์นี้ก็แสดงว่าห้ามขับรถล้ำเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว
เส้นให้ทาง สัญลักษณ์นี้แสดงว่า ให้ผู้ขับขี่ขับรถให้ช้าลง หากเห็นว่าจะไม่ปลอดภัยต่อผู้อื่นในทางขวางหน้า ต้องหยุดรถก่อนถึงแนวทางเส้นให้ทาง จะมีลักษณะเป็นเส้นประสีขาวขวางแนวจราจร
เส้นแบ่งทิศทางจราจรปกติ หมายถึง ผู้ขับขี่รถสามารถเปลี่ยนช่องเดินรถหรือช่องจราจรหรือสามารถแซงได้เมื่อเห็นว่าปลอดภัย
เส้นแบ่งช่องเดินรถห้ามแซง สัญลักษณ์นี้คือ เส้นทึบห้ามผ่านหรือคร่อมเส้นทึบ หรือห้ามแซงโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนขับผ่านหรือคร่อมเส้นทึบจะต้องเสียค่าปรับตามกฎหมาย
เส้นแนวหยุดหรือเส้นให้ทาง หมายถึง ให้ผู้ขับขี่หยุดรถก่อนถึง เส้นแนวหยุดหรือเส้นให้ทาง เพื่อให้คนเดินเท้าข้ามผ่านไปก่อน
เส้นทแยงห้ามหยุดรถ จะมีลักษณะเป็นเส้นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีเหลือง แล้วมีเครื่องหมายกากบาทสีเหลือง คือ ห้ามหยุดรถทุกชนิดภายในกรอบสีเหลือง นี้โดยเด็ดขาด ยกเว้นแต่ว่ารถที่หยุดนั้นต้องการที่จะหยุดเพื่อเลี้ยวขวา
ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบใบขับขี่ภาคทฤษฎี หรือสอบใบขับขี่ภาคปฏิบัติ เพื่อนๆ อย่าลืมอ่านเครื่องหมายบนพื้นทางกันด้วย เพราะเป็นกฎหมายจราจรภาคบังคับ หากเราพบเห็นจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งขัด เพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน นอกจากนี้ยังเป็นไฮไลท์จาก ข้อสอบใบขับขี่ 2565 อีกด้วย
2. หมวดรูปภาพจราจร
- รถคัน ข. มีสิทธิ์ผ่านไปก่อน เนื่องจากอยู่ในทางเอก
- หยุดรถและรอให้รถในทางขวางหน้าขับผ่านไปก่อน
- หยุดรอให้รถคัน ข. ขับผ่านไปก่อน
3. หมวดวิธีการขับรถให้ปลอดภัย
- การขับรถขณะฝนตก ควรเปิดที่ปัดน้ำฝน พร้อมลดความเร็วของรถ และเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ห้ามเปิดไฟฉุกเฉินตลอดทาง
- การจับพวงมาลัย วิธีที่ถูกต้องสุด ก็คือ นิ้วมือทั้งห้า จับพวงมาลัยให้กระชับ สามารถหมุนได้คล่องตัว พยายามอย่าจับให้มือทั้งสองข้างพันกัน เพราะจะทำให้เราขับไม่ถนัด หรือเลี้ยวรถไม่ได้
- รถเกิดเสียหลัก เมื่อตอนฝนตกหนักถนนเปียกลื่น แนะนำให้เรา ตั้งสติให้มั่น จับพวงมาลัยให้ดี และประคองรถต่อไป อย่าหักพวงมาลัยแบบกระทันหัน
- เมื่อรถเสีย สิ่งสำคัญอันดับแรก เราต้องนำรถจอดเข้าข้างทาง พร้อมเปิดไฟฉุกเฉิน เพื่อให้รถคันอื่นรู้ว่ารถของเรากำลังเสีย จะได้ไม่มาชนท้ายรถเรา
- การขับผ่านทางแยก เราต้องทำตามสัญญาณไฟจราจร หรือกฎหมายอย่างเคร่งขัด ห้ามเปิดไฟฉุกเฉิน หรือเร่งความเร็วขณะผ่านทางเเยกเด็ดขาด
- การหยุดรถทางแยก ผู้ขับขี่รถควร หยุดหลังเส้นแนวหยุดรถ
- การกลับรถ สามารถกลับรถได้ในระยะเกินกว่า 100 เมตร จากทางราบของเชิงสะพาน แล้วอย่าลืมเปิดไฟเลี้ยวก่อนกลับรถด้วยนะครับ
- การใช้เกียร์ต่ำ เพื่อหน่วงความเร็วของรถ ในทางลงลาดชัน เกียร์ต่ำจะทำให้รถมีแรงฉุดได้ดีกว่าและทำให้รถของคุณไม่ไหล จึงง่ายต่อการเลี้ยงเบรกและบังคับรถลงทางลาดชัน
- การคาดเข็มขัดนิรภัย จะต้องตรวจสอบการใช้งานของเข็มขัดนิรภัยก่อน ด้วยการ กระตุกดึงสายเข็มขัดอย่างเร็ว แล้วสายเข็มขัดต้องล็อค ให้แน่นสนิท เพื่อความปลอดภัยขณะขับรถ
- การขับรถชิดถนน กรณีนี้หาก ผู้ขับขี่ขับรถช้าก็ควรขับชิดขอบด้านซ้ายของถนน แต่ถ้าผู้ขับขี่ขับรถเร็วหรือต้องการช่องแซง ให้ขับชิดด้านขวาของถนน เลย
- การขับรถสวนทางกัน ให้ผู้ขับขี่ทุกคนชะลอความเร็วและขับชิดด้านซ้าย เพื่อความปลอดภัยร่วมกันบนท้องถนน
- การขับรถเข้าโค้งหรือมุมเลี้ยว ผู้ขับขี่จะต้องควบคุมความเร็วของรถให้เหมาะสมกับโค้งหรือมุมเลี้ยว แล้วให้ชะลอความเร็ว
- รถเลี้ยวพร้อมกัน สำหรับการขับรถที่ถูกต้องและปลอดภัยนั้น ผู้ที่เลี้ยวซ้ายจะต้องหยุดให้ทางแก่รถที่เลี้ยวขวาก่อน เมื่อรถคันด้านขวาเลี้ยวพ้นแล้ว จึงสามารถเลี้ยวไปได้
- การใช้ความเร็ว เมื่อผู้ขับขี่อยู่บริเวณ นอกเขตกรุงเทพ เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล ต้องใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. ส่วนในเขตกรุงเทพ เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล ต้องใช้ความเร็ว ไม่เกิน 80 กม./ชม. ดังนั้น ไม่ควรขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
- การเปลี่ยนช่องจราจร จะเป็นกฎหมายจราจรทางบกกำหนดไว้ว่า หากเราต้องการเปลี่ยนช่องเดินรถ ควรดูกระจกมองข้าง แล้วเปิดสัญญาณไฟเลี้ยว เพื่อเปลี่ยนช่องทางเมื่อเห็นว่าปลอดภัย เท่านั้น
- การเปิดไฟเลี้ยว ตามหลักมารยาทการขับขี่ที่ถูกต้อง เราควรเปิดไฟเลี้ยวทุกครั้งก่อนเปลี่ยนช่องทางเดินรถ ไม่น้อยกว่า 30 เมตรให้ก่อนที่จะเลี้ยว เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน
- การเปิดไฟฉุกเฉิน ใช้เฉพาะ เมื่อรถเสียหรือรถเกิดอุบัติเหตุ เท่านั้น และห้ามเปิดไฟฉุกเฉินขณะข้ามสี่แยก หรือห้ามเปิดไฟฉุกเฉินขณะฝนตกหนัก
4. หมวดการดูแลรถยนต์
- การเติมแบตเตอรี่ สำหรับวิธีการเติมที่ถูกต้องก็คือ ใช้น้ำกลั่น เพราะจะทำหน้าที่เป็นตัวนำไฟฟ้าภายในแบตเตอรี่ ส่วนการดูแลรักษาแบตเตอรี่ ก็คือ การหมั่นตรวจเช็คระดับของน้ำกลั่น และน้ำกลั่นที่ดีควรเป็นน้ำกลั่นบริสุทธิ์ ห้ามใช้น้ำกรดเติมเด็ดขาด และควรเติมน้ำกลั่นอยู่ในระหว่างขีดต่ำ-สูง ของแบตเตอรี่อีกด้วย
- การเติมถังพักหม้อน้ำ เมื่อเราจะเติมน้ำในถังพักหม้อน้ำ ไม่ควรเติมน้ำบาดาล เด็ดขาด และควรอยู่ระหว่างเกณฑ์สูง-ต่ำ ที่กำหนดไว้ข้างถังพักน้ำ เพราะต้องสำรองเนื้อที่ในการขยายตัวของน้ำเมื่อเกิดความร้อน ถือเป็นตัวช่วยในการระบายความร้อนของเครื่องยนต์ได้ดีเลย
- การหมุนพวงมาลัยรถ หากเราหมุนพวงมาลัยรถขณะจอดรถอยู่กับที่จะมีผลให้ ดอกยางสึกเร็วกว่าปกติ
- ขั้วแบตเตอรี่มีคราบกรด ให้ใช้น้ำอุ่นล้างและทาจารบี
- การตรวจสอบสายพานเครื่องยนต์ ให้ใช้มือกดสายพานเครื่องยนต์
- การเช็คสภาพรถ เราควรตรวจสอบรถยนต์ก่อนเดินทางทุกครั้ง เช่น ตรวจแรงดันลมยาง ระบบเบรค และน้ำมันหล่อลื่น รวมถึงควรเดินสำรวจรอบตัวรถทุกครั้ง ว่ามีสิ่งไหนผิดปกติจากเดิมหรือไม่
- เครื่องยนต์ร้อนสูง ถ้าเกิดว่าเข็มความร้อนขึ้นสูงผิดปกติ เราควรหยุดรถในที่ปลอดภัยแล้วปล่อยให้เครื่องเย็นลงก่อน ถึงแม้อาจจะใช้เวลานานหน่อยก็ควรรอดีกว่า หรือหนักมากจนเอาไม่อยู่ก็ควรนำรถเข้าไปให้ช่างตรวจเช็คสภาพทันที หรือสามารถอ่าน วิธีแก้เครื่องยนต์ความร้อนผิดปกติ ได้ครับ
- การสตาร์ทเครื่องยนต์ ขึ้นเบรกมือ-ปลดเกียร์ว่าง-ปิดอุปการณ์ไฟฟ้า-เหยียบคลัตช์-สตาร์ทเครื่องยนต์ ให้ทำตามลำดับ
- การขับรถลุยน้ำ วิธีเอาตัวรอดขณะขับรถลุยน้ำก็คือ ควรเร่งเครื่องยนต์ให้มากกว่าปกติเล็กน้อย อย่าหยุดรถกลางน้ำ และควรขับรถตามหลังคันข้างหน้าในระยะห่างพอประมาณด้วยเช่นกัน
- การแก้ไขผ้าเบรกเปียก เเนะนำให้เรา เหยียบเบรกเบาๆ แล้วปล่อยหลายๆครั้ง จะช่วยไล่ความชื้น พร้อมยืดอายุของการใช้งาน
- การถอดขั้วแบตเตอรี่ จะต้องถอดขั้วแบตเตอรี่ที่เป็น ขั้วลบ ออกก่อน
- ตรวจสอบระดับน้ำมันเครื่อง หลังจากดับเครื่องยนต์อย่างน้อย 10 นาที
5. หมวดกฎหมายรถทั่วไป
- อายุของใบขับรถชั่วคราว กรมการขนส่งทางบกขยายเวลาให้มี อายุ 2 ปี เพื่อทำให้สะดวก และไม่ต้องเปลี่ยนใบขับขี่บ่อย (โดยสามารถขอเปลี่ยนเป็นชนิดส่วนบุคคลได้ตั้งแต่ครบ 1 ปีขึ้นไป)
- การเสียค่าปรับ หากผู้ขับขี่กระทำความผิดจราจรทางบกและได้รับใบสั่ง ต้องติดต่อชำระค่าปรับ ภายในเวลา 7 วัน หากเกินกว่านั้นเราจะต้องเสียค่าปรับเพิ่ม หรือโดนยึดใบขับขี่ในที่สุด
- การเปลี่ยนสีรถ เจ้าของรถทุกคันต้องแจ้งเปลี่ยนสีต่อนายทะเบียน ภายในเวลา 7 วัน นับตั้งแต่วันที่เปลี่ยนสี หากเกินกำหนดจะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- ใบขับขี่หาย / ย้ายทะเบียนรถ / การโอนรถ กรณีนี้ผู้ขับขี่จะต้องแจ้งต่อนายทะเบียน ภายในเวลา 15 วัน ทันที
- ใบขับขี่หมดอายุ หากพบว่าใบขับขี่หมดอายุจะมีโทษ ค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- ต่ออายุใบขับขี่ส่วนบุคคล 5 ปี เราสามารถ ต่อใบขับขี่ล่วงหน้าได้ 3 เดือน
- เอกสารคู่ใบอนุญาตขับรถ ให้เตรียม สำเนาภาพถ่ายใบคู่มือจดทะเบียนรถ
- การวัดระดับแอลกอฮอล์ ขณะผู้ขับรถดื่มสุราเมื่อวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจ จะต้องไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็น หากตรวจพบว่าเกินที่กฎหมายกำหนดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น ดื่มไม่ขับดีที่สุด!!
- การบรรทุกสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นรถกะบะหรือรถบรรทุก ผู้ขับขี่ทุกคนต้องบรรทุกสิ่งของยื่นพ้นตัวรถด้านหลังไม่เกิน 2.50 เมตร เพื่อความปลอดภัยกับผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน
- การขับรถห่างจากขอบทาง ผู้ขับรถที่ต้องการจอดรถจะต้องจอดให้ ห่างจากขอบทางไม่เกิน 25 เซนติเมตร
- การเปิดไฟหน้าหรือไฟท้าย ผู้ขับรถควรเปิดไฟหน้าหรือไฟท้ายให้รถคันอื่นเห็นในระยะ ไม่น้อยกว่า 150 เมตร
6. หมวดมารยาทการขับรถ
- คุณสมบัติผู้ขับรถ มีความรับผิดชอบ-การให้อภัยผู้อื่นมองโลกในแง่ดี-ความอดทนอดกลั้น
- การใช้แตรรถ เพื่อป้องกันอัตรายหรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากรถ รวมถึงผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน แต่บางแห่งก็ไม่ควรใช้แตรรถ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน และเขตพระราชฐาน เป็นต้น ส่วนบริเวณที่ใช้สัญญาณแตรรถได้ก็คือ สวนสาธารณะ
- มารยาทในการขับรถ ควรหยุดรถให้คนข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย
- มารยาทในการจอดรถ หมายถึง การให้ผู้ขับขี่จอดรถโดยไม่กีดขวางผู้อื่นและไม่ฝ่าฝืนกฎจราจร
- บริเวณจอดรถ คือ ลานจอดรถในห้างสรรพสินค้า หรือบริเวณที่สำหรับไว้ให้จอดรถ ไม่ควรจอดกีดขวางผู้อื่นและไม่ฝ่าฝืนกฎจราจร โดยเด็ดขาด
- การเปิดไฟสูง เป็นมารยาทสำคัญของการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน เราไม่ควรเปิดไฟสูงในขณะที่มีรถสวนทาง และไม่เปิดไฟสูงขณะขับรถตามหลังคันอื่น หรือเพื่อไล่รถคันหน้า โดยจะใช้ไฟสูงได้เฉพาะกรณีตรวจสภาพถนนและริมถนนที่มืดมาก และไม่มีรถสวนทางมาเท่านั้น
- การเกิดอุบัติเหตุ ผู้ขับรถทุกคนควรคำนึงอันดับแรกเลยก็คือ การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ โดยปฐมพยาบาลอาการบาดเจ็บเบื้องต้น หรือรีบส่งตัวผู้บาดเจ็บเข้าโรงพยาบาลอย่างด่วนที่สุด
- การให้ทางร่วม เมื่อเราพบเห็นคนกำลังเดินข้ามทางม้าลาย ก็ควรจะ หยุดให้คนข้ามถนนก่อน หรือเราต้องการจะเลี้ยวขวา ก็ควรจะหยุดรอรถทางตรงสวนทางมาก่อนจึงจะเลี้ยว
สรุปว่า เราต้องรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับข้อสอบใบขับขี่
จากข้างต้นที่เพนกวินกล่าวมา จะเป็นตัวอย่าง เฉลยข้อสอบใบขับขี่ 2567 (อัปเดตมาจากข้อสอบใบขับขี่ 2566) เพื่อเข้าสู่สนามสอบใบขับขี่รถยนต์ และ สอบใบขับขี่รถมอเตอร์ไซต์ กรณีต้องการทบทวนข้อสอบใบขับขี่เพิ่มเติม สามารถโหลด แอปข้อสอบใบขับขี่ (Android) และ แอปข้อสอบใบขับขี่ (IOS) พร้อมเฉลยข้อสอบใบขับขี่ผ่านระบบมือถือทันที! หรือเข้ามาทำ แบบทดสอบออนไลน์ ข้อสอบใบขับขี่ 2567 และสามารถจองคิวข้อสอบใบขับขี่ออนไลน์ เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีเวลาไปจองเอง เพียงลงทะเบียนเลือกวันที่ต้องการอบรมสอบใบขับขี่ และเลือกสาขากรมขนส่งเท่านั้น!
ข้อสอบใบขับขี่ 2567 เราจะต้องทำผ่านระบบ E-exam (แบบอิเล็กทรอนิกส์) ช่วยให้เราทำข้อสอบใบขับขี่ได้ง่าย รวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังมีระบบฟังเสียงภาษาไทยสำหรับผู้อ่านหนังสือไม่ออกอีกด้วย โดยข้อสอบใบขับขี่มีทั้งหมด 50 ข้อ รวมทุกหมวดแบบปรนัย (ให้ตัวเลือก 4 ข้อ) และต้องทำให้ได้ 45 ข้อขึ้นไป จึงถือว่าคุณสอบผ่าน หากสอบข้อเขียนผ่านแล้วจะสอบขับรถในขั้นตอนต่อไป และทุกขั้นตอนจะต้องดำเนินการด้วยตนเองเท่านั้น หรือใครที่กำลังมองหา วิธีสอบใบขับขี่มอเตอร์ไซต์ยังไงให้ผ่านฉลุย! (2561-2567) ก็มีสรุปไว้ให้ด้วยนะ!!
ถ้าเราเตรียมความพร้อมมาอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น ข้อสอบใบขับขี่รถยนต์ ข้อสอบใบขับขี่มอเตอร์ไซค์ ถึงจะยากแค่ไหนสามารถสอบใบขับขี่ได้ง่ายขึ้น พอหลังจากที่เราสอบใบขับขี่ผ่านแล้ว อย่าลืมมองหา ประกันภัยรถยนต์ กับ ประกันมอเตอร์ไซค์ เพื่อคุ้มครองรถของคุณด้วย โดยเฉพาะคนที่เพิ่งสอบได้ใบขับขี่และซื้อรถใหม่ป้ายแดง แนะนำให้เลือกประกันรถยนต์ชั้น 1 เพราะได้รับความคุ้มครองที่ครอบคลุมมากที่สุด หรือ สนใจอ่าน เคล็ดลับการเลือกประกันที่ใช่สำหรับคุณ เพิ่มเติมคลิกเลย!
Bolttech Box:
ค่าธรรมเนียมใบขับขี่รถยนต์ และใบขับขี่รถจักรยานยนต์
- ใบขับขี่รถยนต์ ส่วนบุคคลชั่วคราว 2 ปี
ค่าคำขอ 5 บาท + ค่าใบขับขี่ 200 บาท รวมเป็นเงิน 205 บาท
- ต่ออายุใบขับขี่รถยนต์ 2 ปี เป็น 5 ปี ค่าคำขอ 5 บาท + ค่าใบขับขี่ 500 บาท รวมเป็นเงิน 505 บาท
- ใบขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ ส่วนบุคคลชั่วคราว 2 ปี
ค่าคำขอ 5 บาท + ค่าใบขับขี่ 100 บาท รวมเป็นเงิน 105 บาท
- ต่ออายุใบขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ เป็น 5 ปี
ค่าคำขอ 5 บาท + ค่าใบขับขี่ 250 บาท รวมเป็นเงิน 255 บาท