ถึงแม้จะทำงานอาชีพอิสระ หรือประกอบอาชีพฟรีแลนซ์ ไม่ได้เป็นพนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป อย่างเช่น พ่อค้า แม่ค้า วินมอเตอร์ไซต์ คนขับแท็กซี่ เกษตรกร และอาชีพอิสระอื่นๆ ที่ทำงานนอกระบบก็สามารถทำประกันสังคมได้เหมือนกัน ซึ่งสิทธิประกันสังคมมาตรา 40 ที่เป็นแรงงานนอกระบบ (ไม่เคยทำมาก่อน) ทางประกันสังคมจะช่วยเหลืออะไรเราได้บ้าง? ลองมาเช็กสิทธิประกันสังคมมาตรา 40 สำหรับอาชีพฟรีเเลนซ์กันเลย
ผู้ประกันตนมาตรา 40 มีคุณสมบัติอะไรบ้าง?

ก่อนที่เราจะมาเช็กสิทธิประกันสังคม ต้องเข้าใจก่อนว่าประกันสังคมมาตรา 39 กับ 40 ต่างกันอย่างไร ซึ่งคุณสมบัติของผู้ประกันตนมาตรา 39 นั้นเคยทำงานประจำแล้วลาออก แต่อยากทำประกันสังคมขึ้นมาเอง แต่ผู้ประกันตนมาตรา 40 จะเป็นอาชีพแรงงานนอกระบบที่ไม่เคยทำงานประจำมาก่อนเลย หากใครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แล้วอยากได้รับสิทธิประกันสังคม จะต้องมีคุณสมบัติหลักๆ ดังต่อไปนี้
- เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
- ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39
- ไม่เป็นข้าราชการหรืออาชีพที่ยกเว้นตามสิทธิประกันสังคม
- บุคคลพิการที่ไม่อาจรับรู้สิทธิที่พึงได้รับจากการเป็นผู้ประกันตน
ผู้ประกันตนมาตรา 40 จ่ายยังไง แล้วได้รับสิทธิอะไรบ้าง?

รูปแบบที่ 1
ผู้ประกันตนเลือกจ่ายเงินสมทบประกันสังคม 70 บาท รัฐจ่ายสมทบ 30 บาท รวมเงินสมทบเป็น 100 บาท เราจะได้รับสิทธิประกันสังคมเบื้องต้น ตามนี้
- เงินชดเชยรายได้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป วันละ 300 บาท
- เงินชดเชยไม่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป วันละ 200 บาท
- เงินชดเชยรายได้เมื่อไปพบแพทย์ (ผู้ป่วยนอก) และแพทย์ไม่มีความเห็นให้หยุดพักรักษาตัว หรือให้หยุดพักรักษาตัวไม่เกิน 3 วัน ครั้งละ 50 บาท ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี
- กรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินทดแทนรายได้ต่อเดือน 500-1,000 บาท เป็นระยะเวลา 15 ปี
- กรณีเสียชีวิตระหว่างทุพพลภาพ ได้รับค่าทำศพ 20,000 บาท
- กรณีเสียชีวิตได้รับค่าทำศพ 20,000 บาท หากจ่ายเงินสมทบครบ 60 เดือนก่อนเสียชีวิตได้เพิ่มอีก 3,000 บาท

รูปแบบที่ 2
ผู้ประกันตนเลือกจ่ายเงินสบทบ 100 บาท รัฐจ่ายสมทบ 50 บาท รวมเงินสมทบเป็น 150 บาท เราจะได้รับสิทธิประกันสังคมประโยชน์ ตามนี้
- เงินชดเชยรายได้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป วันละ 300 บาท
- เงินชดเชยรายได้ไม่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป วันละ 200 บาท
- เงินชดเชยรายได้เมื่อไปพบแพทย์ (ผู้ป่วยนอก) และแพทย์ไม่มีความเห็นให้หยุดพักรักษาตัว หรือให้หยุดพักรักษาตัวไม่เกิน 3 วัน ครั้งละ 50 บาท ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี
- กรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินทดแทนรายได้ต่อเดือน 500-1,000 บาท เป็นระยะเวลา 15 ปี
- กรณีเสียชีวิตระหว่างทุพพลภาพ ได้รับค่าทำศพ 20,000 บาท
- กรณีเสียชีวิตได้รับค่าทำศพ 20,000 บาท หากจ่ายเงินสมทบครบ 60 เดือนก่อนเสียชีวิตได้เพิ่มอีก 3,000 บาท
- เงินบำเหน็จชราภาพ (จ่ายเงินสมทบ 50 บาท x จำนวนเดือนที่จ่ายเงินสมทบ + เงินออมเพิ่ม) พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนรายปี ทั้งนี้สามารถออมได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาทเท่านั้น

รูปแบบที่ 3
ผู้ประกันตนเลือกจ่ายเงินสมทบ 300 บาท รัฐจ่ายสมทบ 150 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 450 บาท เราจะได้รับความคุ้มครองจากประกันสังคมเพิ่มขึ้น ดังต่อไปนี้
- เงินชดเชยรายได้นอนพักรักษาในโรงพยาบาล ตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป ได้รับวันละ 300 บาท
- เงินชดเชยรายได้ไม่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป วันละ 200 บาท
- กรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินทดแทนรายได้ 500-1,000 บาทตลอดชีวิต
- กรณีเสียชีวิตระหว่างทุพพลภาพ ได้รับค่าทำศพ 40,000 บาท
- กรณีเสียชีวิตได้รับค่าทำศพ 40,000 บาท (จ่ายให้กับผู้จัดการศพ)
- เงินบำเน็จชราภาพ (จ่ายเงินสมทบ 150 บาท x จำนวนเดือนที่จ่ายเงินสมทบ + เงินออมเพิ่ม) พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนรายปี ทั้งนี้สามารถออมได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท
- กรณีสงเคราะห์บุตร รายเดือน 200 บาทต่อคน คราวละไม่เกิน 2 คน บุตรอายุตั้งแต่แรกเกิดแต่ไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์
อย่าลืมนะว่าอาชีพฟรีแลนซ์ไม่ได้มีสวิสดิการต่างๆ เหมือนมนุษย์เงินเดือน กรณีบาดเจ็บล้มป่วยขึ้นมาอย่างน้อยเราก็ควรทำประกันสังคม ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันสุขภาพเสริมเข้ามาด้วย เพื่อช่วยคุ้มครองความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น หรือหากเราบาดเจ็บหนักจนไม่มีงานทำเลย ก็สามารถนำเงินชดเชยรายได้มาสำรองจ่ายทดแทนได้
หรือแนะนำให้เราลองเลือกแพ็กเกจประกันอุบัติเหตุกับ Frank.co.th เผื่อไว้ก็ดีนะ ข้อดีก็คือกรณีประสบอุบัติเหตุก็มีคนช่วยจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ เบี้ยราคาไม่แพง เริ่มต้นเพียง 850- แถมยังคุ้มครองทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมงด้วย เวลาเราทำงานจะได้รู้สึกสบายใจ หายห่วงมากขึ้น แต่ทั้งนี้เพื่อนๆ อย่าลืมอ่านอาชีพประกันอุบัติเหตุไม่ครอบคลุมด้วยนะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานประกันสังคม
