ลมหนาวเริ่มพัดมา น่าขึ้นเหนือจัด Road Trip สนุกๆ สัมผัสอากาศหนาวและธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของโครงการหลวงอันเนื่องมาจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลุยเดช ชมทัศนียภาพอันสวยงามพร้อมสัมผัสวิถีชีวิตชาวท้องถิ่น รับรองได้ว่านอกจากจะได้อิ่มเอมใจกับความสวยงามของสถานที่ เพื่อนๆ ยังจะได้รับมิตรภาพดีๆ จากชาวบ้าน และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อประชาชนบนผืนแผ่นดินไทย ที่ทรงมุ่งหวังให้ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดี โครงการหลวงน่าเที่ยวในภาคเหนือ มีอะไรบ้าง ลองตามมาดูกัน
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพลิกฟื้นพื้นที่ที่ชาวไทยภูเขาเคยใช้ปลูกฝิ่นเลี้ยงชีพมาเป็นสถานีวิจัย และทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ชาวบ้านเพื่อยึดเป็นอาชีพหลัก ทั้งสตรอว์เบอร์รี่, สาลี่, พลับ, พลัม, บ๊วย, กีวี่ ผักกาดหางหงส์, คะน้าใบหยิก, กะหล่ำปลีหัวใจ คะน้าฮ่องกง, ถั่วหวาน, กุหลาบตัดดอก, เบญจมาศ, ยูคาลิปตัส ฯลฯ
ปัจจุบันสถานีเกษตรหลวงอ่างขางกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติที่เพื่อนๆ สามารถไปปั่นจักรยานชมธรรมชาติ ชมนก ชมไม้ ชมทะเลหมอก สัมผัสอากาศหนาวกันได้ ส่วนใครอยากไปเก็บสตรอว์เบอร์รี่ก็สามารถไปได้ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน – เมษายน และที่สำคัญยังมีพืชผักผลไม้เมืองหนาวคุณภาพดีให้เพื่อนๆ ซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านด้วย
การเดินทาง : สถานีเกษตรหลวงอ่างขางตั้งอยู่ที่หมู่บ้านคุ้ม หมู่ที่ 5 ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง บนดอยอ่างข่าง จังหวัดเชียงใหม่ ขับรถไปตามทางหลวงหมายเลข 107 เชียงใหม่ – ฝาง ผ่านอำเภอแม่ริม แม่แตง เชียงดาว ไชยปราการ และเมื่อถึงกิโลเมตรที่ 137 ให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1249 จากนั้นขับตรงไปอีก 25 กิโลเมตรจะถึงดอยอ่างขาง โปรดระมัดระวังในในการขับรถ เนื่องจากเส้นทางชันและคดเคี้ยว
ค่าเข้าชม : คนละ 50 บาท ค่านำยานพาหนะเข้าคันละ 50 บาท
เวลาเปิด – ปิด : เปิดทุกวัน 07.30 – 22.00 น.
หากใครอยากไปชมซากุระเมืองไทยหรือดอกนางพญาเสือโคร่ง สามารถไปชมกันได้ที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ได้เลย เพราะที่นี่ถือเป็นจุดสำคัญในการชมความงามของดอกนางพญาเสือโคร่งในเมืองไทย ซึ่งจะออกผลิดอกในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ อากาศหนาวกำลังดี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงมีพระราชดำรัสให้กองพืชสวน กรมวิชาการเกษตรปรับปรุงพื้นที่แห่งนี้จากไร่ฝิ่นให้เป็นสถานที่ทดลองปลูกและถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกพืชเมืองหนาวบนที่ราบสูงแทน ส่งเสริมเป็นอาชีพให้กับชาวบ้าน หากเพื่อนๆ ไปเที่ยวก็จะได้ชมแปลงดอกไม้และพืชผักเมืองหนาว ไม่ว่าจะเป็นบร็อคโคลี่, มะเขือเทศโครงการหลวง, ต้นหอมญี่ปุ่น, ผักกาดหวาน, องุ่นดำไร้เมล็ด ฯลฯ รวมไปถึงกล้วยไม้รองเท้านารีที่มีเพียงแห่งเดียวในโลกอีกด้วย
การเดินทาง : ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ตั้งอยู่ที่บ้านขุนวาง หมู่ 12 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ขับรถไปตามทางหลวงหมายเลข 108 (เชียงใหม่ – ฮอด) และก่อนถึงอำเภอจอมทองจะมีทางแยกให้เลี้ยวขวาขึ้นดอยอินทนนท์ไปตามทางหลวงหมายเลข 1009 จากนั้นให้สังเกตุหลักกิโลเมตรที่ 30 -31 จะมีสามแยกบริเวณหมู่บ้านขุนกลาง ให้เลี้ยวขวาไปอีก 16 กิโลเมตรก็จะถึงหมู่บ้านขุนวาง ขับเลยหมู่บ้านไป 2 กิโลเมตรก็จะถึงศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง
ค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าเข้าชม
เวลาเปิด – ปิด : เปิดทุกวัน 08.00 – 16.30 น.
สถานีพัฒนาเกษตรที่สูง ตามแนวพระราชดำริ บ้านสะจุก - สะเกี้ยง เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำสำคัญและเป็นสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงที่ให้ความรู้เรื่องการทำนาแบบขั้นบันได ใครที่อยากไปชมนาขั้นบันไดและอยากหาความรู้ในการปลูกข้าวก็สามารถไปเที่ยวที่นี่ได้เลย นอกจากนั้นเพื่อนๆ สามารถท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ ชมแปลงสาธิตการปลูกผักผลไม้ในโรงเรือน ทั้งคะน้าฮ่องกง มะเขือเทศโทมัส พริกหวาน เคปกูสเบอรรี่ เสาวรสหวาน แมคคาเดเมีย อะโวคาโด ฯลฯ และยังจะด้เห็นวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าเมี่ยนอีกด้วย สถานีพัฒนาเกษตรที่สูงฯ นั้นอากาศหนาวตลอดทั้งปี เพราะอยู่บนภูเขาสูง ใครที่ชื่นชอบทะเลหมอกพร้อมอากาศหนาวและทุ่งนาสีเขียวบอกเลยว่าจะต้องตกหลุมรักที่นี่อย่างแน่นอน
การเดินทาง : สถานีพัฒนาเกษตรที่สูง บ้านสะจุก - สะเกี้ยงตั้งอยู่ที่บ้านสะจุก หมู่ 7 และบ้านสะเกี้ยง หมู่ 8 ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน จากตัวเมืองน่านให้ขับรถออกไปยังทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1169 จากนั้นขับไปตามทางประมาณ 37 กิโลเมตร เมื่อใกล้จะสุดทางให้เลี้ยวขวาเข้าถนนลอยฟ้า 1081 อำเภอสันติสุข - อำเภอบ่อเกลือ จากนั้นขับตรงไปจนผ่านอุทยานแห่งชาติขุนน่าน แล้วตรงไปอีกประมาณ 44 กิโลเมตรก็จะเข้าสู่หมู่บ้านสะจุก
ค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าเข้าชม
เวลาเปิด – ปิด : เปิดทุกวัน 08.30 – 17.00 น.
อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้ามีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ จุดท่องเที่ยวสำคัญในอุทยานมีอยู่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นลานหินปุ่ม, ทุ่งดอกกระดาษ, ผาชูธง ฯลฯ ซึ่งโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้าก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญภายในอุทยานฯ เช่นกัน โดยโครงการหลวงแห่งนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อฟื้นฟูสภาพผืนป่า ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้าน ทั้งแปลงปลูกกาแฟอะราบิก้าและสตรอว์เบอร์รี่ นอกจากนั้นยังมีจุดชมวิวถึง 6 จุด ได้แก่ ผาไททานิค, ผาพบรัก, ผาบอกรัก, ผาคู่รัก, ผารักยืนยง และผาสลัดรัก ที่สามารถสูดไอดินกลิ่นธรรมชาติ ชมความงามของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าได้อย่างเต็มตา และยังชมดอกนางพญาเสือโคร่งได้อีกด้วย
การเดินทาง : โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จากตัวเมืองพิษณุโลกสามารถขับรถไปตามทางหลวงหมายเลข 12 พิษณุโลก - หล่มสัก เมื่อถึงสามแยกบ้านแยงให้เลี้ยวขวาผ่านบ้านห้วยตีนตั่ง – บ้านห้วยน้ำไซ - ฐานพัชรินทร์ เข้าสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า รวมระยะทางประมาณ 31 กิโลเมตร
ค่าเข้าชม : เด็ก 20 บาท ผู้ใหญ่ 40 บาท
เวลาเปิด – ปิด : เปิดทุกวัน 08.00 - 16.30 น.
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า ตั้งอยู่ภายในวนอุทยานแห่งชาติภูลังกา เป็นโครงการหลวงแห่งเดียวในจังหวัดพะเยา ด้วยพื้นที่กว่า 20,000 ไร่บนเนินเขาและภูเขาสูง มีการทำการเกษตรเมืองหนาว มีลำน้ำแม่คะและลำน้ำเงินเป็นแหล่งน้ำสำคัญ จุดประสงค์คือเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพให้กับชาวเขาเผ่าเย้าและเผ่าม้งให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ภายในศูนย์ฯ มีการสอนการทำเกษตรกรรม มีการจัดแสดงวัฒนธรรม ศิลปะ และงานฝีมือจากชาวเขา ใครอยากจะซื้อผ้าปัก กระเป๋า เสื้อผ้า เครื่องเงินจากฝีมือชาวเขาก็สามารถอุดหนุนติดไม้ติดมือกลับไปได้ และที่สำคัญศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่ายังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามสะกดตา ซึ่งเพื่อนๆ สามารถไปชมกันได้ที่บริเวณลานหินล้านปีพร้อมสัมผัสกับวิวทะเลหมอกสุดอลังการ
การเดินทาง : ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่าตั้งอยู่ที่บ้านสิบสองพัฒนา ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา จากกลางเมืองพะเยาให้ขับรถไปยังอำเภอดอกคำใต้ - จุน มุ่งหน้าไปทางอำเภอเชียงคำ ตามทางหลวงหมายเลข 1179 จากนั้นเลี้ยวขวาบริเวณที่ กม.8 เข้าทางหลวงหมายเลข 1148 สายเชียงคำ - น่าน จากนั้นเลี้ยวซ้ายที่ กม.90 ไปประมาณ 5 กิโลเมตรจนถึงวนอุทยานภูลังกา
ค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าเข้าชม
เวลาเปิด – ปิด : เปิดทุกวัน 08.00 – 17.00 น.
ข้อมูลจาก expedia.co.th