อ่านเร็วๆ
บ่อยครั้งนะครับที่ Frank ได้เจอคนที่กำลังตัดสินใจว่าจะซื้อบ้านหรือซื้อรถก่อนดี อันนี้ Frank คงตัดสินใจให้ไม่ได้ แต่เชื่อว่าพอหาข้อมูลจะซื้อบ้านหรือซื้อรถแล้ว ในขั้นตอนการหาข้อมูลต้องเจอคำนี้แน่ๆ ครับ “เครดิตบูโร” มันคืออะไรนะ นั่นสิครับ Frank เองก็อยากรู้ ดังนั้นเรามาลองดูกันเลยดีกว่าครับ
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “เครดิตบูโร” เป็นสถาบันจัดตั้งตามกฎหมายเพื่อรวบรวมข้อมูลสินเชื่อและการชำระหนี้ของคนไทยที่มีอยู่กับสถาบันการเงินต่างๆ ทำหน้าที่ตรวจสอบเครดิตบูโรของบุคคลหนึ่ง เพื่อจะรู้ว่าคนๆ นั้นติดหนี้ค้างชำระกับสถาบันการเงินใดๆ เป็นระยะเวลามากกว่า 3 เดือนอยู่หรือไม่ และถ้าหากมีการค้างหนี้นานกว่า 3 เดือน คนๆ นั้นจะถูกจัดเข้าบัญชี “แบล็กลิสต์” ส่งผลให้ธนาคารมีแนวโน้มสูงมากที่จะไม่อนุมัติเงินกู้ซื้อบ้าน การติดแบล็กลิสต์ 1 ครั้งจะมีชื่อค้างในบัญชี 3 ปี
นอกจากจะตรวจสอบแบล็กลิสต์ได้แล้ว ข้อมูลยังแสดงประวัติการชำระหนี้ทั้งหมดด้วย แสดงผลทุกรายการกู้ยืมเงินที่เคยมีมาในช่วง 3 ปี และระบุสถานะการชำระหนี้ หากล่าช้าไม่เกิน 3 เดือนก็จะไม่ถึงกับติดแบล็กลิสต์ แต่ถ้าหากว่ามีในบันทึกประวัติบ่อยๆ ก็จะทำให้คะแนนด้านพฤติกรรมลูกหนี้ลดลง มีผลต่อการพิจารณาไม่ผ่านการอนุมัติเงินกู้ก้อนใหม่ได้ ในทางกลับกัน ถ้าประวัติดี ชำระหนี้ตรงเวลามาสม่ำเสมอ ก็จะเป็นคะแนนบวกทำให้แบงก์ปล่อยกู้ให้เราง่ายขึ้น
“ความเข้มงวดการให้สินเชื่อ” หรือเกณฑ์การพิจารณาของแต่ละธนาคารจะต่างกัน บางธนาคารอาจยอมรับผู้ยื่นขอกู้สินเชื่อชำระหนี้ล่าช้าไม่เกิน 1 เดือนบ้าง แต่บางธนาคารอาจจะตัดสินใจไม่อนุมัติเลย การไม่มีบัตรเครดิตไม่มีผลต่อเครดิตบูโร เพราะไม่มีบัตรเครดิต ก็ไม่แสดงสถานะการชำระหนี้
สิ่งที่ถูกบันทึกนั้น จะเป็นข้อมูลการกู้ยืมเงินจาก “สถาบันการเงิน” ที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน นิติบุคคลที่ให้บริการบัตรเครดิต นิติบุคคลที่ให้บริการสินเชื่อ เป็นต้น นั่นหมายถึงถ้าเรามีประวัติการกู้ยืมสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ฯลฯ ก็จะถูกบันทึกข้อมูลไว้กับเครดิตบูโร เครดิตบูโรบันทึกทุกสิ่งที่เป็นข้อมูลการกู้ยืมเงิน หมายความว่าประวัติการชำระค่าใช้จ่ายทั่วไปที่ไม่ใช่การกู้ยืม เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ไม่ถูกบันทึกไปในข้อมูลเครดิตบูโร จึงไม่ถูกนำมาพิจารณาการปล่อยกู้
หน่วยงานที่ให้กู้ยืมเงินแต่ไม่ได้เป็นสมาชิกเครดิตบูโรก็จะไม่ต้องส่งประวัติไปแสดง และข้อมูลไม่ถึงมือธนาคาร คือ สหกรณ์ต่างๆ (ยกเว้นบางแห่งเป็นสมาชิกแล้ว) และกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เหล่านี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ประวัติการกู้ยืมเงินจะไม่กระทบต่อการพิจารณาให้สินเชื่อบ้าน ปัจจุบัน เครดิตบูโรกำลังพยายามนำหน่วยงานทั้ง 2 หน่วยงาน เข้าระบบข้อมูลเพื่อการประมวลผลที่ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างวินัยทางการเงินให้คนไทย จึงต้องคอยติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อระมัดระวังเครดิตของตนเองที่จะปรากฏต่อธนาคาร
ข้อมูลจาก :: บทความข้างต้นเผยแพร่ครั้งแรกที่ DDproperty.com