การที่เราได้เล่าเรื่องราวดีๆ เรื่องราวที่น่าประทับใจ หรือเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนที่เกิดจากบุคคลอันเป็นที่รักของชาวไทยตลอดกาลสำหรับ frank นั้น เป็นสิ่งที่ภูมิใจและยินดีทำที่สุดครับ เพราะนอกจากเป็นการระลึกถึงสิ่งที่ท่านทรงทำแล้ว frank จะคิดเสมอว่าแล้วเราล่ะ ได้นำเอาสิ่งที่ท่านทรงงานเพื่อพวกเรามาปรับใช้ในชีวิตของเรารึยัง?
บ่อยครั้งที่ที่พวกเราได้ยินจากสารคดี ข่าวในพระราชสำนัก หรือแม้แต่สกู๊ปพิเศษต่างๆ แต่เราก็ฟังแล้วก็ปล่อยให้ผ่านเลยไป และตอนนี้ก็ถึงเวลาแล้วครับที่เราจะนำสิ่งที่ทรงคุณค่าเหล่านั้นมาใช้งานจริงกันซะที เรามาทำความรู้จักกับพระบิดาแห่งการประดิษฐ์ของประเทศเรากันครับ
วิศวกรรมศาสตร์จุดเริ่มต้นของพระบิดาแห่งการประดิษฐ์
คือ สาขาวิชาที่ทรงโปรดเป็นพิเศษเท่าที่ frank อ่านเจอมาสืบเนื่องมาจากตอนที่ทรงพระเยาว์เมื่อทรงประทับอยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ทรงโปรดการประดิษฐ์ของเล่นด้วยพระองค์เอง เช่น เครื่องร่อน และเรือรบจำลอง ที่นอกจากประหยัดแล้วยังเกิดความภาคภูมิใจเป็นอย่างมากเมื่อทรงทำได้สำเร็จ ซึ่งสมเด็จย่าได้ทรงสอนลูกได้อย่างน่ายกย่องเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของความประหยัด รู้จักใช้สิ่งของให้คุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย ของเล่นที่ทรงอยากได้ต้องทรงออมเงินจากเงินค่าขนมของพระองค์เองด้วย ตัวอย่างจากเรื่องของจักรยานคันแรกที่ทรงอยากได้และสมเด็จย่าให้ท่านทรงออมเงินด้วยพระองค์เองโดยการหยอดกระปุกออมสินไว้แล้วทรงสมทบเงินเพิ่มเติมให้จนกระทั่งสามารถทรงซื้อเจ้าจักรยานคันนั้นได้และนี่คือจุดเริ่มต้นของพระบิดาแห่งการประดิษฐ์ของประเทศไทยครับ
จากเรื่องราวนี้ทำให้ frank หวนคิดถึง วิธีการสอนลูกของพ่อแม่ในปัจจุบันว่า ได้สอนให้ลูกรู้จักและเข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลมากน้อยแค่ไหน ก่อนที่เด็กๆ จะได้ของเล่นพวกเขาเคยให้เหตุผลเพื่อมาขอจากเราก่อนไหม หรือแค่รู้สึกอยากเล่นแล้วต้องได้เล่นเท่านั้น รู้จักการอดทนรอคอยไหม เพราะการฝึกให้รอคอยเป็นนี่คือแบบฝึกหัดสำคัญที่ทำให้เด็กๆ มีความฉลาดทางอารมณ์ (EQ)
แล้วเราล่ะ ได้นำเอาสิ่งที่ท่านทรงงานเพื่อพวกเรามาปรับใช้ในชีวิตของเรารึยัง?
และในเรื่องของการประดิษฐ์ของเล่นนั้นยิ่งให้ประโยชน์อย่างมหาศาลเลยล่ะครับ ทั้งสอนให้เด็กมีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักหาความรู้ในสิ่งที่จะทำเพราะก่อนจะทำได้เราย่อมให้คำแนะนำแก่พวกเขาก่อน ได้ลงมือทำด้วยตัวเองที่ฝึกทั้งสมาธิ ความอดทน ปลูกฝังให้เกิดความกล้าที่จะลองทำ และแม้ว่าจะไม่สำเร็จในทุกครั้งก็ยังได้เรียนรู้ที่จะยอมรับความพ่ายแพ้ได้ รู้จักแพ้ให้เป็นเพื่อกลับมาพัฒนาตวเองจนเมื่อทำมันสำเร็จก็จะได้รับความรู้สึกอันยอดเยี่ยมจากความสำเร็จที่เราได้ลงมือทำอย่างเต็มที่ด้วยครับ
เรือใบตระกลูมดผลงานชิ้นเอกของพระบิดาแห่งการประดิษฐ์
ถามตรงๆ นะครับ คุณว่าจะมีซักกี่คนที่ชอบเล่นกีฬาแล้วลงมือสร้างเครื่องมือขึ้นมาเอง? คำตอบคือ มีครับคนนั้นคือพ่อหลวงของเราเองครับ ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวในโลกที่ทรงต่อเรือใบขึ้นเองเพื่อใช้ทรงกีฬาเรือใบเพราะไม่ทรงโปรดซื้อเรือราคาแพงจากต่างประเทศประกอบกับรูปร่างของคนเอเชียมีความแตกต่างจากชาวยุโรปและพระองค์ทรงโปรดการประดิษฐ์เรือรบจำลองตั้งแต่ทรงพระเยาว์อยู่แล้ว จึงทรงศึกษาตำราการต่อเรือตามหลักสากลอย่างผู้รู้จริงเรียกได้ละเอียดถึงหลักมิลลิเมตรเลยล่ะครับ
และนั่นคือที่มาของเรือใบฝีพระหัตถ์ลำแรกที่ทรงต่อด้วยพระองค์เองเป็นเรือใบพระที่นั่งเอ็นเตอร์ไพรส์ โดยพระราชทานชื่อเรือว่า “ราชปะแตน” และต่อมาทรงต่อเรือใบประเภท โอ เค ขึ้นอีก พระราชทานชื่อว่า “นวฤกษ์” ซึ่งเรือนวฤกษ์นี้เอง ทรงนำมาใช้ในการแข่งขันกีฬาเรือใบในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 นอกจากนี้พระองค์ท่านยังทรงคิดค้น ออกแบบ และสร้างเรือใบขึ้นมาด้วยพระองค์เองอีก เป็นเรือใบประเภทม็อธ (Moth) ทรงพระราชทานชื่อว่า “เรือใบแบบมด” ทรงมีรับสั่งว่า “ที่ชื่อมดนั้นเพราะมันกัดเจ็บ ๆ คัน ๆ ดี”
ต่อมาทรงพัฒนาเรือแบบมดขึ้นมาใหม่โดยได้พระราชทานชื่อว่า เรือใบ “แบบซูเปอร์มด” และเรือใบในตระกูลมดนี้ลำสุดท้ายที่ทรงออกแบบคือเรือใบ “แบบไมโครมด” ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักแล่นเรือใบทั้งหลายพระองค์ท่านทรงออกแบบเรือใบเหล่านี้ให้เหมาะสมกับสรีระของคนไทย ได้มาตรฐาน น้ำหนักเบา แล่นเร็ว และง่ายต่อการใช้งาน และทรงจดลิขสิทธิ์เรือใบมดเป็นสากลประเภท International Moth Class ที่ประเทศอังกฤษ พระองค์ท่านทรงปรับปรุงแก้ไขเรือใบตระกูลมดเหล่านี้จนกลายเป็นเรือยนต์รักษาฝั่งชื่อว่า "ต. 91" ปัจจุบันเรียกว่า "เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง" และนี่คือจุดเริ่มต้นของพระบิดาแห่งการประดิษฐ์ของไทยครับ
แนวพระราชดำริ“โครงการแก้มลิง”ในการบริหารจัดการน้ำ
โครงการแก้มลิง คือ การจัดให้มีสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่างๆ เพื่อเป็นบึงพักน้ำในหน้าน้ำหรือพื้นที่หน่วงน้ำ (detention basin)โดยจะทำหน้าที่รองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราว ก่อนจะระบายลงทางระบายน้ำสาธารณะ เวลาฝนตกหนักน้ำฝนจึงไม่ไหลลงสู่ทางระบายน้ำในทันที แต่จะถูกขังไว้ในพื้นที่พักน้ำเพื่อรอเวลาให้คลองต่างๆ ซึ่งเป็นทางระบายน้ำหลักพร่องน้ำพอจะรับน้ำได้เสียก่อนจึงค่อยๆ ระบายน้ำลง เป็นการช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขังได้ในระดับหนึ่งครับ
แนวคิดของโครงการแก้มลิง เกิดจากการที่พ่อหลวงมีพระราชดำริถึง ลิงที่อมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มได้คราวละมากๆ จึงมีพระราชกระแสอธิบายว่า "ลิงโดยทั่วไป ถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง"
นอกจากวัตถุประสงค์เพื่อการระบายน้ำแล้ว แนวพระราชดำริแก้มลิงที่พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ของไทยทรงคิดค้นขึ้นยังผสานแนวคิดในการอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย กล่าวคือ เมื่อน้ำที่ถูกเก็บกักไว้ถูกส่งเข้าไปในคลองต่างๆ ก็จะเข้าไปเจือจางน้ำเน่าเสียในคลองเหล่านี้ให้จางลง แล้วในที่สุดก็จะผลักน้ำเสียที่เจือจางแล้วลงสู่ทะเล หรือแหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป
ลักษณะและวิธีการของโครงการแก้มลิง
1.ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบนให้ไหลไปตามคลองในแนวเหนือ-ใต้ลงคลอง พักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเล เช่น คลองชายทะเลของฝั่งตะวันออก ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ คือ แก้มลิง ต่อไป
2.เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำลงกว่าระดับน้ำในคลอง ก็ทำการระบายน้ำจากคลองดังกล่าวออกทางประตูระบายน้ำ โดยใช้หลักการทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) ตามธรรมชาติ
3.สูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่แก้มลิงนี้ ให้ระบายออกในระดับต่ำที่สุดออกสู่ทะเล เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเองตลอดเวลาส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง
4.เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลองให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ เพื่อป้องกันมิให้น้ำย้อนกลับ โดยยึดหลักน้ำไหลทางเดียว(One Way Flow)
จากข้อมูลที่ frank สรุปมาให้ฟังเกี่ยวกับพระบิดาแห่งการประดิษฐ์ของไทยนี้ จะเห็นถึงการเอาพระทัยใส่ความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างพวกเรามากเพียงใด ทรงศึกษาเรื่องน้ำอย่างละเอียดจนเรียกได้ว่าเป็นผู้รู้จริงเรื่องน้ำ ทั้งทางเดินของน้ำ แนวการไหลของน้ำ ความลาดเอียงของพื้นที่ เพื่อหาทางระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่ง frank ว่าเราสามารถนำมาเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตได้นะครับ เช่นว่า ถ้าเราจะทำอะไรให้เรารู้สาเหตุที่แท้จริง ค้นคว้าข้อมูลให้รู้จริงว่าควรทำแแบบนั้นเพราะอะไร ถ้าไม่ทำล่ะเรามีทางอื่นแก้ไขไหม ทดสอบทดลองจนได้ผลลัพธ์ในที่สุดด้วยความเพียรด้วยนะครับ
“โครงการแกล้งดิน”ในการแก้ปัญหาความเป็นกรดของดิน
อีกหนึ่งโครงการที่ frank ชื่นชมพระปรีชาของพระบิดาแห่งการประดิษฐ์ของไทยเป็นอย่างยิ่งก็คือเรื่อง การแก้ปัญหาดินเป็นกรด หรือที่เรารู้จักกันว่า โครงการแกล้งดิน โดยหลักในการแก้ปัญหานี้ยังไม่เคยอ่านเจอจากวรสารวิทยาศาสตร์ระดับโดลกที่ไหนมาก่อนเลย แต่พ่อหลวงของเราทรงพระปรีชาเป็นอย่างมาก ทรงแนะนำให้แก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนและได้ผลดีอย่างที่เราเห็นตัวอย่างที่จังหวัดนราธิวาสกันมาแล้ว ว่าปัจจุบันสามารถปลูกข้าวได้แล้วจริงๆ ส่วนขั้นตอนนั้นเราสามารถดูจาก Clip ด้านล่างได้เลยครับ
สรุปวิธีการสำคัญที่ใช้ในการแกล้งดิน
ใช้วิธีการปรับปรุงดินที่เปรี้ยวจัดให้สามารถใช้เพาะปลูกได้ โดยมีหลายวิธีการด้วยกันในการ"แกล้งดิน" ดังนี้
-ใช้ปูน เช่น ปูนขาว หินปูนฝุ่น ใส่ลงไปในดิน แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปูนจะทำปฏิกริยากับกรดกำมะถันในดิน เกิดสารสะเทิน ปริมาณกรดในดินจะลดลง ซึ่งหากใส่ในปริมาณที่มากพอจะช่วย ให้ดินมีสภาพเป็นกลาง
-ใช้น้ำจืด ล้างกรดและสารพิษออกจากดินโดยตรง วิธีการนี้ใช้เวลานานกว่าวิธีใช้ปูน เนื่องจากกรดจะชะล้างออกไปอย่างช้าๆ แต่ได้ผลเช่นกัน ซึ่งวิธีนี้พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ของไทยได้ทรงแนะนำพวกเราครับ
-ยกร่อง เพื่อปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น โดยมีคูน้ำอยู่ด้านข้าง ให้นำหน้าดินจากดินในบริเวณที่เป็นคูมา เสริมหน้าดินเดิมที่เป็นคันร่อง ก็จะได้หน้าดินที่หนาขึ้น ส่วนดินที่มีสารไพไรท์จะใช้เสริมด้านข้าง เมื่อใช้น้ำชะล้างกรดบนสันร่อง กรดจะถูกน้ำชะล้างไปยังคูด้านข้าง แล้วระบายออกไป
-ควบคุมระดับน้ำใต้ดิน ให้อยู่เหนือชั้นดินเลนตะกอนทะเล ป้องกันไม่ให้สารไพไรท์ทำปฎิกริยากับออกซิเจน กรดกำมะถันจึงไม่ถูกปลดปล่อยเพิ่มขึ้น
-ใช้พืชพันธุ์ทนทานต่อความเป็นกรด มาปลูกในดินเปรี้ยว โดยใช้วิธีการต่างๆ ข้างต้นร่วมกัน
แค่ชื่อโครงการ ก็เหมาะสมแล้วที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “ความสำเร็จสูงสุด ด้านการพัฒนามนุษย์” (UNDP Human Development Lifetime Achievement Award) ของโครงการพัฒนาแห่งองค์การสหประชาชาติในปี 2549 พระองค์ท่านเป็นนักปราชญ์แห่งการพัฒนาดินและแหล่งน้ำตัวจริงเลยครับ
จากที่อ่านเรื่องโครงการนี้ สิ่งที่ frank ได้เรียนรู้น่าจะเป็นเรื่องของความกล้าที่จะทดลอง ทดสอบ โดยอาศัยการค้นคว้าข้อมูลเบื้องต้นอย่างถ่องแท้ ไม่จำเป็นว่าตำราหรือความรู้ต้องมาจากต่างประเทศเท่านั้นเช่นเดียวกันกับการซื้อประกันรถยนต์ออนไลน์ที่เราสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญได้ทางอินเตอร์เน็ตเช่นเดียวกัน เราเองก็สามารถหาทางแก้ปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตัวของเราเองโดยอาศัยการสังเกตและประยุกต์สิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เหมาะสมที่สุด ดังพระราชดำรัสของพ่อในปี 2535 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินตรวจแปลงศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดินกำมะถันว่า
"...นี่เป็นเหตุผลอย่างหนึ่ง ที่พูดมาสามปีแล้วหรือสี่ปี ว่าต้องการน้ำสำหรับมาให้ดินทำงาน ดินทำงานแล้วดินจะหายโกรธ อันนี้ไม่มีใครเชื่อ แล้วก็มาทำที่นี้แล้วมันได้ผล... อันนี้ผลงานของเราที่ทำที่นี่ เป็นงานที่สำคัญที่สุด เชื่อว่าชาวต่างประเทศ เขามาดูเราทำอย่างนี้แล้ว เขาก็พอใจ เขามีปัญหานี่แล้วเขาก็ไม่ได้ แก้หาตำราไม่ได้ ..."
พวกเรานี่ช่างโชคดีจริงๆ เลยนะครับ นับจากพระปฐมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เป็นต้นมา พ่อได้ทรงอุทิศพระวรกายและทรงงานมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อพัฒนาชีวิตให้ปวงชนชาวไทย โดยมิเลือกเชื้อชาติ วรรณะ และศาสนา จึงทรงได้รับการขนานนามจากชาวโลกว่า “ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา” อย่างสมพระเกียรติที่สุดเลยครับ
ร่วมถวายความอาลัย