พอเริ่มเข้าเดือน 6 ฝนก็เริ่มทยอยตกในบางพื้นที่กันแล้ว และสิ่งอันตรายที่เราควรระวังอย่างยิ่งคือโรคที่มาพร้อมหน้าฝนนั่นเอง เนื่องจากอากาศที่ชื้นทำให้เชื้อโรคและแบคทีเรียเติบโตและแพร่พันธุ์ได้ว่องไว ซึ่งหลายโรคอาจทำให้มีอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง และอาจส่งผลต่อชีวิตถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ Frank เคยนำเสนอวิธีดูแลตัวเองตอนหน้าฝนไปแล้ว วันนี้จึงขออาสาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคภัยที่มาตอนหน้าฝน พร้อมให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองไม่ให้ล้มป่วยครับ
เป็นโรคที่มักพบเป็นประจำเมื่อเข้าใกล้หน้าฝน เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) โดยปกติแล้วโรคไข้หวัดใหญ่มักเป็นและหายได้เองเพราะร่างกายของเรามีภูมิคุ้มกันอยู่บ้างแล้ว แต่ถ้าร่างกายของคุณอยู่ในภาวะอ่อนแอก็อาจเกิดอันตรายได้ถึงชีวิตเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1) ที่เกิดจากการกลายพันธุ์ นั่นก็มีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ทั่วไป ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้เช่นกัน
อาการของไข้หวัดใหญ่จะมีไข้สูงถึง 39-40 องศาเซลเซียส ติดต่อกันหลายวัน พร้อมด้วยอาการปวดเมื่อยทั่วร่างกายและเบื่ออาหาร ตลอดจนอาจเกิดอาการป่วยอื่น ๆ ตามมาจากภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ไข้สมองอักเสบ เป็นต้น ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดไข้ ทานยาลดไข้พาราเซตามอล และต้องนอนพักผ่อนให้มาก ๆ หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์โดยไว
ส่วนวิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่นั้นก็ให้ล้างมือบ่อย ๆ งดใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงติดต่อสัมพันธ์กับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด และเมื่อเป็นไข้หวัดให้ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายสู่คนอื่น นอกจากนี้เรายังเลือกป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้อีกด้วย
เชื่อว่าหลายคนคงเคยป่วยอาหารเป็นพิษมาก่อน โดยสาเหตุนั้นเกิดจากการทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อโรค แบคทีเรีย หรือไวรัส เช่น อาหารที่ค้างคืน เน่าเสีย หรืออาหารที่ไม่ได้ผ่านการปรุงสุก และความชื้นจากหน้าฝนยิ่งทำให้อาหารเน่าเสียง่ายกว่าเดิม ผู้ที่ป่วยอาหารเป็นพิษนั้นจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรง ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องร่วง ไม่มีแรง ทำให้ร่างกายขาดน้ำและรุนแรงอาจถึงขั้นช็อก หรือเสียชีวิตได้
ผู้ที่ป่วยอาหารเป็นพิษ ต้องดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนน้ำในร่างกายที่สุญเสียไป ทานยาแก้ท้องเสีย เช่น คาร์บอน ทานอาหารอ่อน ๆ เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้ม เป็นต้น และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์โดยไวที่สุด ส่วนการป้องกันนั้นสามารถทำได้ง่าย ๆ ให้หมั่นล้างมือบ่อย ๆ เพราะเรามักไปจับสิ่งต่าง ๆ ที่เชื่อโรคอาจติดมือเราได้ ตลอดจนทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ อย่าทานอาหารค้างคืน
โรคไข้เลือดออกเกิดจากยุงลายตัวเมียเป็นพาหะแพร่เชื้อ ยิ่งช่วงหน้าฝนแบบนี้เป็นช่วงที่ยุงเยอะเพราะมีแหล่งน้ำขังจำนวนมาก โรคไข้เลือดออกสามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกเพศทุกวัย มักพบในหมู่เด็กทารกและผู้สูงวัย แม้ว่าโรคไข้เลือดออกจะมีอาการไม่รุนแรงและสามารถรักษาให้หายเองได้ แต่สิ่งที่น่ากลัวคืออาการแทรกซ้อนที่ตามมา หากอาการไม่ทุเลาลงก็อาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน คลื่นไส้อาเจียน และมีจุดแดงเล็ก ๆ ขึ้นตามตัว ซึ่งสังเกตได้ง่าย บางครั้งอาจมีอาการปวดท้องและมีเลือดออกตามไรฟันด้วย
เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสไข้เลือดออกโดยตรง การรักษาจึงเป็นไปตามอาการให้ผู้ป่วยทุเลาลง และเชื้อจะหายไปเองภายใน 2-7 วัน ผู้ป่วยควรเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อลดไข้ และทานน้ำผสมเกลือแร่เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ สามารถทานยาพาราเซตามอลได้ และห้ามรับประทานยาแอสไพรินและยากลุ่ม NSAID ส่วนการป้องกันไข้เลือดออกนั้นเราต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายที่เป็นพาหะ ด้วยการทำลายแหล่งน้ำขัง อย่าให้มีน้ำขังภายในบ้าน เช่น ตามแก้วน้ำ แจกัน รางน้ำ โอ่งใส่น้ำ เป็นต้น
หรือเรียกอีกชื่อว่า Leptospirosis เกิดจากแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของหนู โค สุกร สุนัข มักพบบ่อยในช่วงหน้าฝนเนื่องจากฝนตกหนักน้ำจะท่วมขัง ซึ่งน้ำขังเหล่านี้จะปนเปื้อนไปด้วยปัสสาวะของหนูที่อยู่่ในท่อ หากเท้าของเรามีบาดแผลและเหยียบย่ำไปยังบริเวณที่มีน้ำท่วมขังก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัว เป็นไข้ เมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้อาเจียน พอผานไปสักพักจะมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง คอแข็ง ความดันโลหิตต่ำ บางครั้งมีผื่นแดง และอาจป่วยยาวได้ถึง 30 วันเลยทีเดียว
สำหรับการรักษาโรคฉี่หนูนั้น ห้ามรักษาตามอาการ ควรไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน เพราะมีอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนการป้องกันนั้นให้หลีกเลี่ยงเดินทางไปยังบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง หากมีแผลตามตัวให้งดกิจกรรมว่ายน้ำ นอกจากนี้ให้ระวังเรื่องสุขอนามัยรอบบ้านไม่ให้หนูเข้ามาทำรัง
เป็นโรคที่พบบ่อยในช่วงหน้าฝน โรคมือเท้าปากเกิดจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัส และทางอากาศ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักเป็นเด็กเล็กที่อยู่ในช่วงอนุบาล เมื่อติดโรคจะมีอาการเป็นไข้ตัวร้อน มีผื่นหรือตุ่มแดงที่บริเวณมือ เท้า และมีแผลในปาก หากมีอาการไม่รุนแรงสามารถหายได้เอง แต่หากมีอาการรุนแรง ไข้อาจขึ้นสูงมากจนเสียชีวิตได้เช่นกัน
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ต้องรักษาตามอาการเพื่อบรรเทาให้หายเอง เนื่องจากไม่มียารักษาเฉพาะ เช่น ทานยาลดไข้เมื่อมีไข้ขึ้นสูง ดื่มน้ำเกลือแร่เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ หากมีอาการแทรกซ้อนควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ส่วนการป้องกันนั้นทำได้เพียงแยกตัวหรืออย่าเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อ และทำความสะอาดพื้นที่พักอาศัยบ่อยครั้ง
โรคที่มาพร้อมกับหน้าฝนเหล่านี้ แม้มีอาการไม่รุนแรง แต่หากมีอาการแทรกซ้อนก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ทางที่ดีเราควรศึกษาและป้องกันไม่ให้เกิดโรคเหล่านี้เกิดขึ้นกับตัว เพราะถ้าเป็นขึ้นมาแล้วนอกจากจะต้องทนเจ็บป่วย ยังต้องเสียค่ารักษาพยาบาลด้วยเช่นกัน นอกจากนี้หากสงสัยว่าตนเองมีอาการและอาจเป็นโรคดังกล่าวก็ให้ไปพบแพทย์ทันที ซึ่งโรคเหล่านี้มักจะเบิกค่ารักษากับประกันสุขภาพหรือประกันสังคมได้ครับ
ที่มา : bangkokhospital, pobpad, bumrungrad, siphhospital