เมื่อเราเดินทางมาถึงปลายปีก็ใกล้เข้าไปทุกทีกับฤดูกาลเปิดโลกกว้างที่ทุกคนรอคอย นั่นก็คือ 'ฤดูหนาว' นั่นเอง และเพราะคนเมืองมักได้สัมผัสอากาศเย็นๆ กันแค่ไม่กี่วัน จนแทบจะทำให้การซื้อเสื้อกันหนาวมาใส่ กลายเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น ประชากรชาวกรุงเทพฯ นับจำนวนไม่ถ้วน จึงเลือกที่จะเดินทางออกนอกเมือง หรือออกนอกประเทศเพื่อดื่มด่ำกับฤดูกาลนี้ให้เต็มที่ ก่อนจะกลับมาตะลุยความวุ่นวายกันต่อไป
อย่างไรก็ตามด้วยความที่การท่องเที่ยวแบบนี้ มักมีคำพูดติดปากว่า “นานๆ ทีมีครั้ง” จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่หลายคนเลือกจะจับจ่ายใช้สอยกันอย่างไม่คิดมาก และค่อยกลับมาคิดไม่ตกกันทีหลัง ซึ่งแน่นอนว่านี่ไม่ใช่หนทางการท่องเที่ยวที่ควรจะเป็น เพราะเราควรไปเที่ยวอย่างราชา และกลับมาอย่างราชาเช่นเดิมต่างหาก! โดยเคล็ดลับสำคัญที่จะทำให้เราไม่ถังแตก หลังกลับมาจากการพักผ่อนหย่อนใจนั้น ก็สามารถทำตามได้ง่ายๆ ดังนี้
แทบจะทุกคนที่เลือกเปิดบัญชีไว้กับหลายๆ ธนาคาร ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านความสะดวกสบาย หรือด้วยโปรโมชันของแถมอะไรก็ตาม การมีหลายบัญชีนั้นย่อมดีกว่าการมีบัญชีเดียวแน่นอน แต่เราต้องมั่นใจว่า จะต้องมีบัญชีหนึ่ง ซึ่งเปิดไว้เฉพาะสำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวของเรา และเราอาจเรียกมันว่า “บัญชีเงินเก็บเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ” ก็ยังได้
โดยเราควรวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ ว่า จุดหมายปลายทางที่เราอยากจะไปเที่ยวนั้น ต้องใช้เงินประมาณเท่าไร และเริ่มเก็บเงินไปเรื่อยๆ เพื่อให้ถึงเป้าหมายนั้น และสัญญากับตัวเองว่า เมื่อถึงเวลาได้ไปจริงแล้วก็จะต้องไม่รบกวนบัญชีอื่นๆ ที่มีไว้สำหรับในชีวิตประจำวัน ซึ่งการแยกบัญชีแบบนี้ จะทำให้เราสามารถควบคุมงบประมาณของรายจ่ายต่อการเดินทางแต่ละครั้งได้เป็นอย่างดี รวมทั้งไม่ทำให้เมื่อกลับมาแล้ว จะต้องมาปวดหัวกับสภาพคล่องทางการเงินอีกด้วย
นอกจากนี้สำหรับใครที่นิยมไปเที่ยวกับคนรู้ใจ ครอบครัวหรือเพื่อน ๆ เราก็ควรเตรียมเงินกองกลางแยกไว้ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการใช้จ่ายเงินงบประมาณ หรือป้องกันการเอาเปรียบเพื่อนร่วมทางได้อีกด้วย
แม้เราจะวางแผนการท่องเที่ยวมาแรมปีเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม เพราะความแน่นอนก็ยังคงเป็นความไม่แน่นอน เมื่อถึงเวลาที่จะต้องไปจริง ก็อาจมีเหตุไม่คาดฝัน หรือสิ่งที่ทำให้เราอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มได้ เช่น หลายคนที่อาจจะเคยวางแผนการท่องเที่ยวแบบไปกางเต๊นท์นอน แต่กลับพบว่าช่วงนั้นบังเอิญมีพายุเข้า จนทำให้ไม่สามารถนอนในสถานที่โล่งแจ้งได้ จึงต้องหาโรงแรมหรือรีสอร์ทแทน ซึ่งทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดขึ้น ดังนั้น หากเรามีแผนสองเตรียมไว้ ที่ต่อให้จะไม่ได้ใช้ก็ยังเป็นประโยชน์อยู่ดี เช่น จากกรณีดังกล่าว เราก็อาจหาข้อมูลเกี่ยวกับที่พักรอบ ๆ สถานที่ ๆ จะไป ว่ามีบริการห้องพักแบบไหน หรือราคาเท่าไรอยู่บ้าง จากนั้นก็ควรโทรศัพท์ไปเพื่อสอบถามเส้นทาง หรือรายละเอียดอื่นๆ ไว้ก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะยังมีที่พัก ในราคาที่ประเมินและเตรียมรับไว้อยู่แล้วนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก MoneyHub
Rewrite by Butter Cutter