อ่านเร็วๆ
เริ่มฤดูกาลใหม่พร้อมกับกฎหมายจราจรใหม่เพื่อช่วยกันลดการเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ ที่เป็นสาเหตุอันดับที่ 1 ของการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ในบ้านเรา และเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2560 นี้แล้วนะครับโดยเฉพาะเรื่องปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ปรับลงเหลือ 50 mg% แล้ว จึงอยากให้เพื่อนๆ รู้ก่อนว่ากฎหมายใหม่ที่ว่านี้มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง? และถ้าเรามีความจำเป็นต้องดื่มก่อนขับรถจริง ปริมาณการดื่มเท่าไหร่ที่เป็นปริมาณที่เหมาะสม หรือการดื่มมาตราฐานนั้นอยู่ที่ปริมาณเท่าไหร่? ใช้เวลาขับออกนานเท่าไหร่กัน?
มีการปรับลดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดลงเหลือ 50 mg% ซึ่งก็คือ “ความเมา” ตามคำจำกัดความของกฎหมายที่ว่าและมีความผิดตามกฎหมายจราจรใหม่ คือ
1.มีโทษจำคุก 1 ปี
2.ปรับตั้งแต่ 10,000-20,000 บาท
3.หรือทั้งจำทั้งปรับ
4.และศาลสามารถสั่งพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือนหรือเพิกถอนใบขับขี่ไปเลย
5.และสามารถยึดรถไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน
แต่ถ้าขับรถด้วยความเมาทำให้เกิดเหตุจนทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายทางร่างกายและจิตใจ
1.มีโทษจำคุก 1-5 ปี
2.ปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท
3.หรือทั้งจำทั้งปรับ
4.และศาลสามารถสั่งพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปีหรือเพิกถอนใบขับขี่ไปเลย
และถ้าขับรถด้วยความเมาจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายอย่างสาหัส
1.มีโทษจำคุก 2-6 ปี
2.ปรับตั้งแต่ 40,000-120,000 บาท
3.หรือทั้งจำทั้งปรับ
4.และศาลสามารถสั่งพักใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 ปีหรือเพิกถอนใบขับขี่ไปเลย
และถ้าเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายด้วยอาการมึนเมาในขณะขับขี่แล้วล่ะก็
1.มีโทษจำคุก 3-10 ปี
2.ปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท
3.หรือทั้งจำทั้งปรับ
4.และศาลสามารถสั่งเพิกถอนใบขับขี่เลย
แต่มีข้อยกเว้นสำหรับต่อไปนี้ ในกรณีที่ตรวจแอลกอฮอล์พบเกิน 20 mg% ก็ถือว่าเป็นผิดเมาขณะขับรถด้วยเช่นกันครับ
-ผู้ขับขี่ซึ่งมีอายุต่ํากว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
-ผู้ขับขี่ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
-ผู้ขับขี่ซึ่งมีใบอนุญาตขับขี่สําหรับรถประเภทอื่นที่ใช้แทนกันไม่ได้
-ผู้ขับขี่ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับขี่ หรืออยู่ระหว่างถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
ก่อนอื่นต้องรู้จักคำว่า “1 ดื่มมาตราฐาน” กันก่อนว่ามันคืออะไร? เจ้าหน่วยที่ว่านี้หมายถึงปริมาณวัดหน่วยการดื่มที่เราใช้ในการเปรียบเทียบในเครื่องดื่มแต่ละชนิดที่มีความแรงของแอลกอฮอล์ที่ต่างกันและในปริมาณที่แตกต่างกัน เพื่อป้องกันเราดื่มมากเกินไปจนทำให้ปริมาณแอลกอฮอล์มีมากเกินไปจนถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อร่ายกายและการตัดสินใจในขณะขับขี่รถ เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับเกิดขึ้นนั่นเองครับ
1 ดื่มมาตราฐาน เป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกใช้กันมานานอย่างแพร่หลายครับ เทียบเท่ากับเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ประมาณ 10 กรัมหรือประมาณ 12.5 มิลลิลิตร และร่างกายสามารถขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายได้ใน 1 ชั่วโมง (สำหรับผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง) และปริมาณที่เราดื่มได้ตามเกณฑ์ คือ
วิสกี้ 1 แก้ว ขนาด 30 ml. (3 ฝา) ดีกรีแอลกอฮอล์ 40% = ไวน์ 1 แก้ว ขนาด 100 ml. ดีกรีแอลกอฮอล์ 12% = เบียร์ 1 แก้ว 330 ml. ดีกรีแอลกอฮอล์ 5%
อีกเรื่องที่อยากให้เพื่อนๆ ระวังไว้หน่อย คือ สารพัดบทความที่แชร์เรื่องเครื่องดื่มที่ช่วยให้สร่างเมานั้นไม่เป็นความจริงตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เลยครับ การสร่างเมานั้นจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายขับแอลกอฮอล์ออกมาจากร่างการด้วยตับของเราตามเวลาที่ทิ้งช่วงไว้เท่านั้น
ส่วนการดื่มนมเปรี้ยวไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับการที่ร่างกายขับแอลกอฮอล์ การดื่มกาแฟหรือแม้แต่การอาบน้ำเย็นจัดนั้นช่วยแค่ทำให้เรารู้สึกตื่นตัวแต่แอลกอฮอล์ยังอยู่ปริมาณเท่าเดิมนะฮะ เจอด่านเป่าก็เรียบร้อยเหมือนเดิม
แต่เราป้องกันไม่ให้เมาเร็วหรือร่างกายดูดซึมแอลกอฮอล์อย่างรวดเร็วได้ครับ โดยการ
- กินอาหารมื้อใหญ่ก่อนดื่ม โดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้ง
- เลือกดื่มเครื่องดื่มชนิดเดียว หลายขนานเกินไป เมาเละแน่ครับ
- ดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้นหลังดื่มเสร็จ เพราะร่างกายเราจะขาดน้ำอย่างรุนแรง อาจเกิดอาการผิวแห้งตามมาโดยเฉพาะถ้าเราดื่มกาแฟไปด้วย ดื่มน้ำเพิ่ม 3 เท่าเลยฮะ (ป้องกันผิวเหี่ยวก่อนวัยด้วยนะครับ งานนี้ดื่มคอลลาเจนก็ไม่ช่วยฮะ)
เป็นไปตามกฎหมายจราจรใหม่ที่ประกาศเลยครับ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2560 นี้เลยโดยเฉพาะสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ ถ้าตรวจพบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดมากกว่า 50 mg% จะไม่ได้รับความคุ้มครองนะครับถ้าคุณจะดื่มก็อย่าขับรถเองเลยฮะ นอกจากจะได้รับบทลงโทษตามกฎหมายแล้วโดนยึดรถไปอีก 7 วัน นั่งแท๊กซี่กลับหรือให้เพื่อนที่ไม่เมาขับมาส่งดีกว่าครับ
ส่วนคนที่ประสบเหตุซึ่งก็คือคนที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ครับยังคงได้รับความคุ้มครองจากประกันรถยนต์ภาคบังคับและภาคสมัครใจตามความคุ้มครองปกติ
ร่วมรณรงค์ เมาไม่ขับ กลับแท็กซี่ ดีกว่าเยอะครับ