เหงือกและฟันนับว่าเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ว่าใครก็ต้องเคยไปหาหมอฟันกันทั้งนั้น แต่..คุณรู้หรือไม่ว่าประกันสังคมที่ต้องจ่ายไปในแต่ละเดือน มีสิทธิประโยชน์ทันตกรรมหรือทำฟันด้วยนะ เพราะภาครัฐเห็นว่าควรเป็นสวัสดิการสุขภาพที่ประชาชนควรได้รับ ดังนั้นมาดูกันว่าสิทธิทันตกรรมจากประกันสังคมให้อะไรกับเราบ้าง มีเงื่อนไขอะไร สามารถเบิกได้ไหร่ เช็คสิทธิได้อย่างไร พบคำตอบจากบทความนี้เลยครับ
ผู้ที่สามารถใช้สิทธิทันตกรรมจากประกันสังคมได้ ต้องเป็นประกันสังคมมาตรา 33 และ 39 เท่านั้น หรืออธิบายง่าย ๆ ก็คือ มนุษย์เงินเดือนทั่วไปที่จ่ายประกันสังคมทุกเดือนครับ หรือเป็นอดีตมนุษย์เงินเดือนออกจากงานประจำไปแล้วแต่ยังจ่ายเงินทำประกันสังคมอยู่ (สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมจาบทความ ประกันสังคมมาตรา 39 กับ 40 ต่างกันอย่างไร ? ได้เลยครับ)
โดยต้องเป็นบริการทันตกรรมสี่แบบ คือ 1.ถอนฟัน 2.อุดฟัน 3.ผ่าฟันคุด และ 4.ขูดหินปูน ซึ่งเป็นบริการพื้นฐานของทันตกรรมทั่วไป แต่ถ้าไปหาหมอฟันแล้วค่าทำฟันออกมาเกิน 900 บาท คุณต้องเป็นผู้จ่ายเงินค่าส่วนต่างเองครับ นอกจากนี้บริการอื่น ๆ อย่างเคลือบฟลูออไรต์ ดัดฟัน จัดฟัน รักษาโพรงประสาทฟัน จะไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้นะครับ
ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าคุณไปหาหมอฟัน หมอผ่าฟันคุดออกมา 1 ซี่ และอุดฟันอีก 2 ซี่ รวมเบ็ดเสร็จมีค่าใช้จ่าย 2,000 บาท เท่ากับว่าคุณสามารถเบิกประกันสังคมได้ 900 บาท ส่วนต่างที่เกินมาอีก 1,100 บาท คุณต้องออกเงินเอง
แม้ว่าประกันสังคมให้ค่าทันตกรรมต่อปีเพียง 900 บาท แค่ขูดหินปูนก็หมดแล้ว หลายคนคิดว่าน้อยจึงมองข้ามไป แต่อยากให้ลองคิดว่ามันเป็นสิทธิที่เราควรได้ และช่วยลดค่าใช้จ่ายของเราได้ในระดับหนึ่ง และเราสามารถใช้สิทธินี้ได้เรื่อย ๆ ทุกปีครับ
นอกจากบริการถอนฟัน อุดฟัน ผ่าฟันคุด และขูดหินปูน แล้ว การทำฟันปลอมชนิดถอดได้ ก็เบิกค่ารักษาจากสิทธิปรกันสังคมได้ด้วยนะ แต่เป็นการเบิกตามค่ารักษาที่จ่ายจริง ไม่เกินวงเงินที่กำหนดในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันปลอมครั้งแรก (ห้ามใช้สิทธิเกินวงเงินที่กำหนดในเวลา 5 ปี) ตามเงื่อนไขดังนี้
1. กรณีทำฟันปลอมที่ถอดได้บางส่วน
- ทำฟันปลอม 1-5 ซี่ จ่ายตามค่ารักษาจริงไม่เกินวงเงิน 1,300 บาท
- ทำฟันปลอมมากกว่า 5 ซี่ จ่ายตามค่ารักษาจริงไม่เกินวงเงิน 1,300 บาท
- ทำฟันปลอมที่ถอดได้ในส่วนปากบน(ทั้งปาก)หรือปากล่าง(ทั้งปาก) จ่ายตามค่ารักษาจริงไม่เกินวงเงิน 2,400 บาท
- ทำฟันปลอมที่ถอดได้ทั้งหมดปาก จ่ายตามค่ารักษาจริงไม่เกินวงเงิน 4,400 บาท
แต่ถ้าทำฟันปลอมชนิดฝังรากแบบถอดไม่ได้ จะเบิกค่าทันตกรรมกับประกันสังคมไม่ได้นะครับ
ถ้าคุณถอนฟัน ผ่าฟันคุด อุดฟัน ขูดหินปูน กับสถานทันตกรรมของหน่วยงานภาครัฐทุกแห่ง รวมถึงสถานทันตกรรมของเอกชนบางแห่งที่เข้าร่วมโครงการ จะสามารถใช้สิทธิค่ารักษาได้เลยไม่ต้องสำรองจ่าย โดยให้สังเกตจากป้ายสติ๊กเกอร์ที่มีข้อความระบุว่า "สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม ทำฟัน ไม่ต้องสำรองจ่าย" ส่วนถ้าเป็นสถานทันตกรรมเอกชนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการคุณต้องสำรองจ่ายไปก่อน แล้วค่อยมาทำเรื่องเบิกเอาเงินคืนกับประกันสังคมภายหลัง
สำหรับกรณีทำฟันปลอมที่ทั้งถอดได้บางส่วนและถอดได้ทั้งปาก คุณก็ต้องสำรองจ่ายไปก่อนเช่นกันนะครับ
หากคุณสำรองจ่ายค่าทันตกรรมและต้องการเบิกค่าใช้จ่ายกับประกันสังคม ให้เตรียมหลักฐานมายื่นกับสำนักงานประกันสังคมตามท้องที่ที่ท่านสะดวกตามวันและเวลาราชการ ดังนี้
สำหรับการเบิกเงินคุณมีเวลาไปทำเรื่องเบิกภายในระยะเวลา 2 ปี โดยนับจากวันที่ใช้บริการทันตกรรม แม้ทางประกันสังคมจะทิ้งระยะเวลาไว้ให้ค่อนข้างนาน แต่ก็อย่าชะล่าใจจนลืมไปทำเรื่องเบิกนะครับ และหลังจากที่คุณทำเรื่องเบิกไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์เงินจะถูกโอนมายังบัญชีที่ท่านได้แจ้งหลักฐานไว้ครับ
ต้องพึงระวังอีกประการคือการเบิกค่าทันตกรรมจากประกันสังคมจะเบิกได้ไม่จำกัดจำนวนจนกว่าจะครบวงเงิน 900 บาท ต่อปีนะครับ แต่ถ้าหากหมดปีนั้นไปแล้วจะไม่สามารถใช้สิทธิย้อนของปีเก่าได้ ดังนั้นก่อนที่จะถึงสิ้นปีวันที่ 31 ธค อย่าลืมไปใช้สิทธิทำฟันกันนะครับ สุดท้ายท้ายนี้คุณยังสามารถเช็คสิทธิประกันสังคมได้ง่าย ๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น SSO Connect หรือเว็บไซต์ของประกันสังคมได้โดยตรง สมัครง่าย กรอกข้อมูลเสร็จก็ตรวจสอบได้เลยครับ
ขอบคุณที่มา : www.sso.go.th