เรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเราคงได้ยินกันมาซักพักนึงแล้ว frank เองคิดว่าน่าจะกว่าเกือบ 40 ปีได้แล้วมั้งครับ เคยคิดว่าเป็นหลักการที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรเท่านั้นเลยคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ไกลตัวเรา แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่เลย frank เลยอยากนำข้อมูลที่ frank ได้อ่านเพิ่มเติมมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง ทั้งด้วยความระลึกถึงในพระเมตตาของพ่อหลวงต่อปวงชนชาวไทยและอยากให้เรานำสิ่งที่มีคุณค่าเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตของเราให้ได้ด้วยกันครับ
1.ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต
เราต้องรู้จักประมาณตนเอง อย่าฟุ่มเฟือย ค่าใช้จ่ายอะไรที่ไม่จำเป็นก็ตัดมันออกไปเลยครับ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเวลาเลือกซื้ออะไรให้เราดูที่ประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก อย่าเห็นกับของลดราคาจนทำให้เราซื้อของมากเกินความจำเป็นไปซะ หรืออย่าไปยึดติดกับภาพลักษณ์จนทำให้เราต้องจ่ายเงินราคาแพงเพื่อรักษาเพื่อมันไว้
2.ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง ซื่อสัตย์สุจริต
การเลือกอาชีพนั้น frank ว่าหลักคำสอนตามศาสนาก็ได้สอนเราไว้แล้วด้วยนะครับ และเราเลือกได้ว่าเราควรหาเลี้ยงชีพแบบสุจริต ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เอาเปรียบ คดโกงใคร เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นเกิดวัฏจักรครับ และกฎแห่งกรรมก็มีอยู่จริงซะด้วย
3.ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันกันในทางการค้าแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง
เหมือนหลักการทางการตลาดในระดับโลกเลยเลยฮะ Red Ocean ที่ท้ายสุดแล้วจะกลายเป็นสงครามราคา ซึ่งก็ทำให้เราสูญเสียทางธุรกิจกันทุกฝ่ายในท้ายที่สุด
4.ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ด้วยการขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้น จนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ
Knowledge is power ความรู้ คืออำนาจครับ เมื่อเรามีความรู้เราก็จะเกิดปัญญาสามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง การตั้งมั่นในเรื่องของการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้เรามีความรู้เพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน และความรู้นี่ล่ะครับที่จะทำให้เรามีรายได้ที่เพิ่มขึ้น เพียงแต่เราต้องรู้จักพอดีด้วยนะครับอย่าโลภครับ
5.ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักศาสนา
คำสอนของทุกศาสนามุ่งสอนให้เราเป็นคนดี ตั้งมั่นในความดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่นครับ นอกจากการสวดมนต์และเข้าวัดทำบุญแล้ว ลองเอาหลักคำสอนมาพิจารณากันด้วยนะครับว่า แก่นแท้ของคำสอนนั้นคืออะไร เราต้องรู้จักการใช้เหตุผลด้วยนะครับ
ย้อนกลับมามองเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงกันบ้าง ว่าหลักการที่ว่านั้นมีอะไร และพระปรีชาของพ่อหลวงของเรานั้นเหมาะสมแล้วที่ทั่วโลกให้การยกย่องในระดับสูงสุด ด้วยเพราะความเรียบง่าย แต่แยบคาย สมเหตุสมผลกับวิถีชีวิต ในคำสอนเหล่านี้ล่ะครับ
1.ความพอประมาณ
ความพอดี คือใจความสำคัญของทุกอย่างจริงๆ นะครับ หรือในบางคนเรียกคำคำนี้ว่า ความสมดุลย์ นั่นเอง เราต้องรู้จักพอ รู้จักความเหมาะสม รู้ว่าตัวเราพอดีที่ตรงไหน รู้จักพอประมาณอย่ามากเกินไปหรือน้อยจนเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
2.ความมีเหตุผล
นี่คือเป็นธรรมชาติของโลกเลยนะครับ ด้วยเพราะสาเหตุอะไรจึงทำให้เกิดผลลัพธ์เหล่านั้นขึ้น สมแล้วที่ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ของโลกจริงๆ ถ้าเราตอบตัวเองได้อย่างตรงไปตรงมาว่าเราทำสิ่งต่างๆ เพราะอะไร ตั้งคำถามกับตัวเองให้ได้ก่อนที่จะลงมือทำ เราจะพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
3.มีภูมิคุ้มกัน
อีกข้อของเศรษฐกิจพอเพียงจากการเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดย คำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ในเรื่องความมีเหตุผลแล้วนั้นเราจะรับมือปัญหาได้อย่างมีสติมากขึ้นครับ และเกิดความกล้าที่จะลองทำสิ่งใหม่ๆ ในชีวิตของเราด้วย
โดยทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมานั้น จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ใช้ในการตัดสินใจ 2 ประการ คือ
-เงื่อนไขความรู้
ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในการปฏิบัติ
-เงื่อนไขคุณธรรม
ประกอบด้วย มีความตระหนักใน คุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
จากหลักของเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าเราพึ่งพาตัวเองได้ ไม่ต้องคอยกังวลว่าเรามีข้าวกินหรือเปล่า เลี้ยงดูครอบครัวไม่ให้อดอยาก มีรายได้เสริมจากการทำงานของเรา และเกิดความภูมิใจในตัวเอง นี่มันคือ อิสรภาพในชีวิตที่เราตามหากันอยู่ชัดๆ และสิ่งที่จะตามมาในท้ายที่สุดก็คือ “ความสุข” นั่นเองล่ะครับ
frank จึงอยากชวนเพื่อนๆ ให้เรานำคำสอนของพ่อหลวงมาปรับใช้ในชีวิตของเรากันเถอะครับ มาทำให้หลักการเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักการของชาติเราเพื่อรอยยิ้มของพ่อกันนะครับ
ร่วมถวายความอาลัย