ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เวลาเราเห็นน้องหมาอ้วน รูปร่างกลมๆ ในสายตาผู้เลี้ยงอาจจะดูน่ารักน่าชัง แต่ในความเป็นจริงแล้วหากปล่อยให้สุนัขอ้วนมากจนเกินไป ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพของน้องได้เหมือนกัน ทั้งเสี่ยงเป็นโรคอ้วน โรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา แล้วนี่คือ 5 สัญญาณเตือนว่าน้องหมาอ้วนขึ้น ควรลดน้ำหนักโดยด่วน!
ถึงแม้เวลาน้องหมามีเหนียง อาจจะมองดูน่ารัก แต่รู้หรือไม่ว่า? นั่นคือหนึ่งสัญญาณเตือนว่า น้องหมากำลังอ้วนขึ้น วิธีสังเกตง่ายๆ บริเวณคอของสุนัขเป็นชั้นๆ พอจับแล้วจะมีเนื้อปริออกมา ซึ่งต่างจากเดิมที่แทบจะไม่มีเหนียงออกมาเลย
เมื่อเห็นว่า สุนัขอ้วนผิดปกติ ตรงบริเวณด้านข้างของเอวจะมีไขมันปกคลุมค่อนข้างหนา หากเป็นหมาที่มีขนสั้นอาจจะสังเกตได้ง่ายกว่า แต่ถ้าเป็นหมาที่มีขนฟูมากๆ แนะนำให้ลองใช้มือสัมผัสบริเวณเอวดูก่อน กรณีที่สัมผัสเอวแล้วไม่พบกระดูกซี่โครง แสดงว่าเจ้าตูบกำลังอยู่ในภาวะอ้วนนั่นเอง
อันนี้ให้เรามองดูจากด้านบน เราจะเห็นว่าน้องหมามีแผ่นหลังกว้างมากกว่าปกติ แล้วสุนัขจะมีรูปร่างคล้ายรูปลูกแพร์ หรือมีลักษณะท้องกาง น้องหมามีรูปร่างคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมมากขึ้น โดยมีไขมันหนาทั่วร่างกาย ก็เป็นหนึ่งสัญญาณเตือนว่าน้องหมาอ้วนขึ้นด้วย
ให้สังเกตบริเวณโคนหางของสุนัข หากพบว่า โคนหางเริ่มขยายใหญ่ขึ้น และมีไขมันปกคลุมหนา กรณีที่เป็นสุนัขที่มีขนฟูๆ ให้ลองใช้มือสัมผัส ถ้าสุนัขอ้วนขึ้นเวลาคลำแล้วไม่พบกระดูกบริเวณโคนหาง
เจ้าตูบมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน เช่น หมาเริ่มขี้เกียจ เฉื่อยชา เวลาเจ้าของเรียกเริ่มไม่อยากมาหา ไม่ยอมกระโดดเล่นด้วยเหมือนแต่ก่อน อีกทั้งยังมีท่าทางการเดินที่เปลี่ยนไป ก็คือน้องหมาเริ่มเดินช้า ซึ่งเจ้าของไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด! เพราะการที่น้องหมาเริ่มเฉื่อยชา อาจเป็นหนึ่งสัญญาณอาการหมาป่วยได้เหมือนกัน เราควรพาเจ้าตูบไปหาหมอทันที
ถ้าเราประเมินแล้วว่า น้องหมาอ้วนขึ้นจากเดิม ทั้งสังเกตจากด้านบน ด้านข้าง และบริเวณโคนหาง เดินอุ้ยอ้าย และเฉื่อยชามากขึ้น คงถึงเวลาแล้วที่เจ้าของต้องพาเจ้าตูบไปลดความอ้วน
อย่างไรก็ตาม สำหรับน้องหมาที่มีปัญหาสุขภาพ หรือมีปัญหาโรคอ้วน ควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อน เพราะรูปแบบการลดน้ำหนัก อาจจะไม่เหมาะสมกับสุนัขบางตัว ทางที่ดีเราควรให้สัตวแพทย์ประเมินก่อน อย่างน้อยๆ จะได้มีคนคอยแนะนำวิธีการลดความอ้วนได้ถูกต้อง
เจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกคน อย่าปล่อยให้น้องหมาอ้วนเกินไป! นอกจากเกิดโรคอ้วนตามมาแล้ว ยังส่งผลต่อปัญหาสุขภาพอีกมากมาย เช่น โรคข้อเข่าอักเสบ โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคตับอ่อนอักเสบ หรือโรคเบาหวาน ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้น้องหมาป่วยเป็นโรคและทำให้มีอายุสั้นลง เราควรใส่ใจด้านอาหารสุนัข การออกกำลังกาย รวมถึงพาน้องไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อได้รู้ว่าน้องหมามีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงหรือไม่