อีกเรื่องที่ frank เกิดความประทับใจมากๆ คือเรื่องของ ปลานิล และที่มาที่แสนจะไม่ธรรมดาจากพระอัจฉริยภาพของพ่อซึ่ง frank ไปค้นเจอมา ที่นอกจากทำให้รู้จักพ่อของพวกเราในอีกแง่มุมแล้วยังแสนจะภูมิใจในสายพระเนตรอันยาวไกลทีทำเพื่อคนไทย จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่อยากหยิบยกมาเล่าให้ฟังกันครับ ส่วนเพื่อนๆ ที่อยากรู้เรื่องราวของพ่อในแง่มุมอื่นๆ คลิ๊กอ่านเพิ่มได้เลยนะครับ
เราคงรู้ที่มาของปลานิลกันแล้วว่าเป็นปลาอิมพอร์ทมาจากประเทศญี่ปุ่น ด้วยการพระราชทานจากพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะแห่งญี่ปุ่น ซึ่งในตอนนั้นดำรงพระยศเป็นมกุฏราชกุมาร และที่สำคัญทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปลาโดยเฉพาะ ที่เรียกว่า “มีนกร” (ศัพท์ของเด็กประมงเค้านะครับ) ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยนฮะ ในการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ต้องมีใจรักเรื่องปลาเป็นอย่างมากทีเดียว โดยที่มาของปลานิลนั้นเกิดจาก “ปลาบู่” มาก่อนครับ
จุดเริ่มต้นของปลานิลนั้น เริ่มจากการเสด็จประพาสญี่ปุ่นของพระองค์ในปี พ.ศ. 2506 ซึ่งในตอนนั้นสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะและพระบรมวงศานุวงศ์ญี่ปุ่นทุกพระองค์เสด็จฯ มาถวายการต้อนรับถึงสนามบินฮาเนดะเลยทีเดียว และได้ทรงกราบบังคมทูลเชิญให้เสด็จฯ ทอดพระเนตรโรงงานผลิตกล้องถ่ายรูปของบริษัทแคนนอน โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า NEC และกิจการด้านโทรคมนาคมและการผลิตวิทยุทรานซิสเตอร์ ตามความสนพระทัยของพระองค์ท่านด้านเทคโนโลยี
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2507 มกุฎราชกุมารอากิฮิโตะและพระมเหสีได้เสด็จฯ แทนพระองค์สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และในช่วงเวลานี้เองที่เกิด “ปลาบู่การฑูต” ขึ้นก่อนปลานิล โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงวางแผนพาผู้เชี่ยวชาญด้านปลาที่เสด็จมาเมืองไทยครั้งแรก ไปทอดพระเนตรปลาที่ พิพิธภัณฑ์ประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ซึ่งก็มีของเด็ดอยู่ด้วย นั่นก็คือ “ปลาบู่มหิดล” เป็นปลาบู่ในเมืองไทยที่ค้นพบเป็นแห่งแรกของโลก และได้รับการตั้งชื่อเพื่อเทิดพระเกียรติพระบรมชนกตั้งแต่ พ.ศ. 2496 โดย ดร.ฮิว แมกคอร์มิค สมิธ (ดร.สมิธ ถือว่าเป็นระดับเทพ ของวงการอนุกรมวิทาน ด้านมีนวิทยา จากอเมริกา ที่เดินทางมาที่สยามตั้งแต่สมัยรัชการที่ 6 เพื่อมาดูแล กรมรักษาสัตว์น้ำ ในขณะนั้น) นั่นจึงเป็นหนึ่งในความประทับใจของมกุฎราชกุมารในขณะนั้นเป็นอย่างมาก ถึงกับมีบันทึกว่าทรงตรัสว่า “นี่เป็นปลาที่ ดร.สมิธเก็บหรือ?” ซึ่งทำให้ได้ใจคนรักปลาไปเต็มๆ
หลังจากนั้นมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะและพระมเหสีได้เสด็จฯ ได้ทรงเสด็จประพาสเมืองไทยอีกครั้ง และในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เชิญเสด็จที่ภาคเหนือเพื่อให้ทราบถึงการขาดแคลนโปรตีนในแหล่งห่างไกล จึงกลายเป็นที่มาที่ทรงประทาน ปลานิล จำนวน 50 ตัว ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา
หลังจากนั้นคงเป็นอย่างที่หลายคนทราบดี คือ พระองค์ทรงเลี้ยงปลานิลที่เหลือรอดชีวิตเพียง 10 ตัวที่สระน้ำในวังสวนจิตรดา จนกลายเป็นชื่อเรียกว่า “ปลานิลสวนจิตรดา” ทรงดูแลอย่างใกล้ชิดจาก 10 ตัว อย่างที่เรารู้กันว่า ทรงไม่โปรดเสวยปลานิลนักตามที่เราได้ยินทรงรับสั่งว่า “เลี้ยงมาเหมือนลูก จะไปกินลงได้อย่างไร” กลายเป็น 10000 ตัวในระยะเวลา 1 ปีและได้ทรงมอบให้กรมประมงทำการเพาะเลี้ยงเพื่อขยายพันธ์ุให้ประชาชนต่อไป จนเราได้กินโปรตีนจากปลาที่ย่อยง่าย ราคาถูก หาซื้อได้จากทุกที่ รวมถึงส่งออกได้อีกปีละ เกือบ 200,000 ตัน ในปัจจุบัน
จากที่ frank เล่าให้ฟังมานั้น frank ชื่นชมพระองค์ท่านสุดหัวใจครับ ทรงเป็นต้นแบบของการคิดนอกกรอบ ในการเชิญเสด็จมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะและพระมเหสีมาชมปลาตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว ทรงเป็นต้นแบบของการวางแผนระยะยาวด้วยการจัดหาโปรตีนที่มีราคาย่อมเยาว์จากแหล่งน้ำจืดซึ่งก็คือ ปลานิล ที่มีอยู่ทุกชุมชนโดยไม่ต้องเสียค่าเดินทาง และทรงใส่ใจรายละเอียดในงานที่พระองค์ทรงด้วยการสร้างความประทับใจแก่แขกบ้านแขกเมืองอย่างตรงจุดที่สุด ลูกๆ อย่างเราควรเอาเป็นแบบอย่างและศึกษาจากงานที่ท่านทรงเพื่อพวกเรากันเถอะนะครับ
ร่วมถวายความอาลัย
Credit :
http://somkaithoon.blogspot.com/2013/01/blog-post_9115.html,
http://www.matichon.co.th/news/87248,
www.chaoprayanews.com/2017/03/06/เมื่อ-สองกษัตริย์-ชวนก,
http://www.marumura.com/king-bhumibol/